เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตหาดใหญ่) และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้หลังโควิด-19 แนวทางฟื้นฟูรับเปิดเทอมใหม่” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สำนักงาน กสศ. ชั้น 13 อาคารเอส พี ทาวเวอร์ พหลโยธิน
ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ โค้ชโครงงานฐานวิจัย (ป.4-ม.3) โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน แต่เรียนออนไลน์ (Online-เรียนผ่านอินเตอร์เนต) และออนแฮนด์ (On Hand-แจกใบงานให้ทำ) เป็นการทดแทน โดยหลังเปิดภาคการศึกษา1/2565 ได้ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนและผู้ปกครองใน จ.สงขลา ซึ่งพบว่า “เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เขียนหนังสือไม่เป็นตัว” เนื่องจากกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง
นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับครูใน จ.ปัตตานี พบว่าเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ยังมีปัญหาเรื่องการจับดินสอ จับแน่นตัวก้มชิดสมุด มือเกร็ง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดพัฒนาการด้านประสาทสัมผัสในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นที่มาของการใช้ “เครื่องวัดแรงบีบมือ” เพื่อวัดสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส
ซึ่งพบว่า “เด็กร้อยละ 98 มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน” โดยปกติค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม จากการทดสอบมีเด็กผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 1.19 จึงได้ริเริ่มชวนครูมา PLC ออนไลน์ ซึ่งได้พบปัญหาจากครูที่เข้ารับการอบรมว่า ปัญหาที่พบคล้ายๆกัน คือ กล้ามเนื้อมือเด็กไม่แข็งแรง สังเกตได้จากการเขียนหนังสือของเด็ก เช่น เขียนตัวหนังสือไม่คมชัด หรือเขียนหนังสือช้าและไม่คล่องแคล่ว
จึงได้เกิดโครงการ PSU - ครูรักศิษย์ ครั้งที่ 7 เรื่อง “การพัฒนาฐานกาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ ระดับอนุบาล-
ป.3” ดูแลโครงการโดย ครูนก-จรรยารักษ์ สมัตถะ โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร(เพชรานุกูลกิจ) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นครูต้นเรื่องที่ได้รับอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หลังจัดกิจกรรมให้เด็กได้ทำพบว่า ค่าแรงบีบมือเด็กมากขึ้นถึง 0.5-2 กิโลกรัม
ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ โค้ชกระบวนการวิทยาศาสตร์ (อนุบาล-ป.3)โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า เด็กมีความทุกข์ในห้องเรียนจากกล้ามเนื้อมัดเล็กอ่อนแรงจนไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ ส่งผลให้เกิดภาวะไม่เชื่อมั่นในตนเอง สุดท้ายทำให้เด็กขาดเรียนมากกว่าครึ่งห้อง โดยเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยอนุบาลที่มีความยากลำบาก ต้องประคับประคองตัวเองกับเรื่องที่ต้องการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
จึงเสนอให้ครูใช้เรื่องของการเล่นเข้าไป แต่เป็นกระบวนการเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ซึ่งเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เป็นวัยที่ยังโหยหาการเล่นอยู่ เห็นได้จากเด็กวิ่งไล่จับกันหรือไปเล่นที่สนามเด็กเล่นของเด็กอนุบาล จึงได้ออกแบบการเล่นที่ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ ซึ่งเด็กจะต้องใช้กระบวนการคิดด้วย เด็กจะต้องใช้ศักยภาพทุกอย่างในชีวิตทั้งร่ายกาย สมอง อารมณ์จิตใจ และพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน
จนเกิดเป็นกิจกรรมที่นำเชือกฝ้ายสานกันเป็นใยแมงมุม โดยใช้อุปกรณ์ที่มีในโรงเรียน มีกติกาจุดใดเชือกสูงต้องข้าม เชือกต่ำต้องลอด และห้ามถูกใบไม้ที่แขวนอยู่ทำให้เด็กได้ฝึกสังเกต ฝึกกระบวนการคิดรวมรวบข้อมูล และทดลองทำ หลังทำกิจกรรม2 สัปดาห์พบว่าเด็กมีพัฒนาการดีขึ้น นอกจากนี้ ยังออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสำหรับเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง เคลื่อนไหวเร็ว และทำงานร่วมกับเพื่อนไม่ค่อยได้ โดยการแจกไม้เสียบลูกชิ้นที่ไม่ปลายแหลมคนละ 10 อัน ซึ่งเด็กทุกคนต้องนับไม้ว่าครบ 10 อันหรือไม่
โดยจากการทำกิจกรรมของเด็กพบว่า “เด็กบางคนนับเกือบจะครบแต่กลับมาวนใหม่” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการนับเลขของเด็กยังอยู่ชั้นอนุบาล โดยเด็กถูกข้ามชั้นมาตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 จึงทำให้นับตัวเลขไม่ได้ นอกจากนี้พอนับไม่เสร็จเด็กจะต้องนำไม้วางซ้อนกันให้สูงที่สุด เล่นครั้งละ 1 คนตามลำดับ โดยให้เด็กสังเกตว่าของตนเองสูงที่สุดหรือยัง และเป็นการให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาด้วย หลังจากลองให้เด็กเล่น 2 ชั่วโมงต่อเนื่อง พบว่า เด็กไม่เบื่อกิจกรรมและไม่หยุดจากการเล่นกิจกรรม ซึ่งหมายความว่ากล้ามเนื้อใหญ่ของเด็กแข็งแรง กล้ามเล็กใช้ได้ และมีความสุขกับการเล่น นอกจากนี้ยังทำให้สมองของเด็กพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ด้วย
รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวถึง “ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss)” ที่ในปี 2565 นั้นสถานการณ์รุนแรงมีเด็กหางแถวและเกิดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด และในปัจจุบันผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลงเนื่องจากขาดสื่อการเรียนรู้ ทำให้ทักษะภาษาและคณิตศาสตร์ของเด็กขาดหายไปกว่า ร้อยละ 90
ทั้งนี้ หลังสถานการณ์โควิด-19 ยังพบว่า “เด็กทำการบ้านและอ่านหนังสือน้อยลงแต่ใช้เวลากับอินเตอร์เนตเพิ่มมากขึ้น” จึงเสนอทางออกระยะสั้นให้มีการเปิดเรียนภาคฤดูร้อน ชดเชยเวลาที่ขาดหายไป และจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความพร้อมของเด็ก ส่วนทางออกระยะยาว ต้องพัฒนาทักษะการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง และยกระดับการศึกษาปฐมวัยด้วยจัดการเรียนการสอนแบบ “Active Learning” ซึ่งเด็กทุกคนเรียนเพื่อเติบโตเป็นอนาคตของชาติ ถ้าหากไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เด็กจะมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยไปเรื่อยๆ
และเมื่อไปอยู่ในตลาดแรงงานก็กระทบต่อความสามารถในการพัฒนาประเทศ การแก้ปัญหาจึงต้องทำแบบ “วิ่งมาราธอน” หรือแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ปัจจุบันเด็กที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มเด็กที่ไม่มีทรัพยากร ไม่ได้รับการเรียนพิเศษ ฉะนั้นข้อเสนอการเปิดเรียนภาคฤดูร้อน จึงจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงของการศึกษา เพราะหากเด็กมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยไปเรื่อยๆ สุดท้ายเด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษา
รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ โค้ชโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นว่าเด็กชั้นประถมศึกษา 2 ใน 74 โรงเรียน “มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อมือ” ดังนั้นโรงเรียนมหาวิทยาลัย และหน่วยงานการศึกษาที่กำกับดูแลต้องร่วมมือกันทำ โดยใช้โมเดลพัฒนากล้ามเนื้อมือ
อาจเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ และเกิดการเรียนรู้ในทุกระดับ ที่จะทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุขและเป็นคนดี และยังสามารถเป็นนักคิดและแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์เป็นอีกด้วย โดยเป็นการวัดค่าแรงบีบมือทุก 2 สัปดาห์ และสมรรถนะฐานกาย ซึ่งคาดการณ์ว่าเด็กจะมีค่าแรงบีบมือเพิ่มขึ้น 0.5-1.5 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน และมีค่าแรงบีบมือตามเกณฑ์มาตรฐานภายใน6 เดือน ซึ่งผลงานชุดนี้ได้นำร่องแล้วประมาณร้อยละ 50 โดยเริ่มนำร่องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี