รองโฆษก ตร.เตือน‘สลิปปลอม’ระบาด ระวังตั้ง‘โอนล่วงหน้า’ แนะวิธีสังเกตไม่ยาก
15 พฤศจิกายน 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.ท.ธเทพ ไชยชาญบุตร รองโฆษก ตร. เปิดเผยกรณีชายหญิงตระเวนใช้สลิปปลอมหลอกซื้อของไปทั่วตลาดที่ จ.อ่างทอง ว่า จากกรณีที่มีข่าวพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดต่างหวาดผวากันอย่างหนัก หลังมีหญิงสาวอายุราว 30 ปี กับชายวัยกลางคน ตระเวนซื้อของทั้งเสื้อผ้า ของใช้ภายในตลาดนัดในพื้นที่ จ.อ่างทอง โดยใช้วิธีชำระเงินโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร และแสดงสลิปการโอนเงินให้ตรวจสอบให้กับแม่ค้าดู แต่ปรากฏว่าหลังตรวจสอบยอดเงินปรากฏว่า ไม่มีเงินเข้ามา ทั้งที่ตอนที่แสดงให้ดูก็มีการโอนเงินสำเร็จแล้ว ในกรณีดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากเตือนพ่อค้าแม่ค้าระมัดระวัง หากมีการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันก็ให้ตรวจสอบยอดเงินทันทีจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้
สำหรับวิธีการตรวจสอบสลิปปลอมมีดังนี้
1. สังเกตความละเอียดของ ตัวเลข หรือ ตัวหนังสือ หากเป็นสลิปปลอม แบบของตัวหนังสือบนสลิป ในส่วนของ ชื่อผู้โอน จำนวนเงิน วันที่ เวลา อาจจะเป็นตัวหนังสือคนละแบบ หรือความหนา บางของตัวอักษรจะไม่เท่ากัน หากเป็นเช่นนี้ อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นสลิปปลอม
2. สแกน QR Code บนสลิปโอนเงินแบบ E-Slip สามารถตรวจสอบ ชื่อผู้โอน จำนวนเงิน วันและเวลาที่โอนเงินได้ หากยอดเงินไม่ตรง หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยว่าเป็นสลิปปลอม
3.ใช้บริการแจ้งเตือนของธนาคาร ซึ่งจะแจ้งเตือนเมื่อมียอดเงินเข้าบัญชี สามารถนำไปเทียบยอดเงินกับสลิปได้
4. ใช้ระบบจัดการร้านค้าที่มีฟังก์ชันตรวจสอบสลิปการโอนเงินอัตโนมัติกรณีที่ร้านค้าออนไลน์มียอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก และมีการโอนเงินเข้าหลายรายการ สามารถเลือกใช้ระบบจัดการร้านค้าที่มีระบบตรวจสอบสลิป และยอดเงินเข้าอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้ร้านค้าประหยัดเวลา และลดขั้นตอนการตรวจสอบ สลิปปลอม
อีกวิธีการหนึ่งที่มิจฉาชีพมักใช้ คือ การตั้งโอนล่วงหน้า ซึ่งจะสามารถกดยกเลิกได้ตลอดเวลา หลังจากโชว์สลิป ให้กับพ่อค้าแม่ค้าดูแล้ว แนะสังเกตด้านบนสลิป หากเป็นข้อความว่า ตั้งโอนล่วงหน้าสำเร็จ แสดงว่าเงินยังไม่เข้า เพราะถ้าโอนเงินสำเร็จ จะต้องเป็นข้อความว่า ชำระเงินสำเร็จ, ชำระบิลสำเร็จ หรือโอนเงินสำเร็จ หากไม่สังเกตสลิปดีๆอาจตกหลุมพรางของคนร้ายได้
“สำหรับผู้ที่กระทำหรือใช้สลิปปลอม ถือว่ามีความผิดมีความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และการปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” รองโฆษก ตร. กล่าว
รองโฆษก ตร. กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้สลิปโอนเงินปลอมนำมาหลอกลวงกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า จึงสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปราบปรามและหาทางป้องกันอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันศูนย์ PCT มีการเตือนภัยพี่น้องประชาชน รูปแบบกลโกงของคนร้ายรวมทั้งสิ้น 18 วิธี หากสงสัยเกรงจะตกเป็นเหยื่อสามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com และสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ pctpr.police.go.th
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี