‘รมช.ประภัตร’ นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมั่นก้าวสู่ตลาดโลก
23 พฤศจิกายน 2565 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 4/2565 โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายประภัตร กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานทั่วไป (ฉบับที่ 4) พ.ศ. …. โดยได้ดำเนินการจัดทำร่างค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับ GAP และ Organic สำหรับสินค้าเกษตร จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทพืชอาหาร พืชสมุนไพร ไม้ผล หม่อน ไม้ดอก เห็ด ชา และกาแฟ 2) ประเภทพืชไฮโดรโพนิกส์ 3) ประเภทข้าว พืชไร่ พืชเกษตรอุตสาหกรรม ยางพารา และพืชอาหารสัตว์ และการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ การรวบรวม การคัดบรรจุ แปรรูป และจัดจำหน่ายพืชอินทรีย์ (Organic) สำหรับสินค้าเกษตร จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทพืชอาหาร พืชสมุนไพร ไม้ผล หม่อน เห็ด ชา และกาแฟ 2) ประเภทข้าว พืชไร่ พืชเกษตรอุตสาหกรรม ยางพารา และพืชอาหารสัตว์
นอกจากนี้ ยังได้มีการพิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 6 เรื่อง เพื่อประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ ได้แก่ หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ เนื่องจากมีข้อมูลว่าในช่วงต้นฤดูจะมีการตัดทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาดเพื่อเร่งจำหน่าย ซึ่งเป็นการทำลายตลาดทุเรียนในภาพรวม ส่งผลกระทบทำให้ราคาทุเรียนทั้งตลาดภายในและต่างประเทศมีราคาตกต่ำ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทย จึงได้มีการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดี สำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียนเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อควบคุมกำกับดูแลปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) และช่วยสนับสนุนการจำหน่ายผลทุเรียนที่แก่ มีคุณภาพตามมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและเวทีการค้า ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพของทุเรียน ไทยเพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก
มาตรฐานองุ่น ซึ่งในปี 2564 ประเทศไทยมีการนำเข้าองุ่นสด ปริมาณ 1.02 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 5,683 ล้านบาท และองุ่นเป็นไม้ผลที่เกษตรกรไทยนิยมปลูกกันมาก มีพื้นที่ปลูกองุ่น รวมทั้งสิ้น 5,517.10 ไร่ ผลผลิตรวม 4,189.40 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 1,809.48 กิโลกรัม นอกจากจะจำหน่ายในประเทศแล้วยังสามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน เช่น ลาว เป็นต้น ทั้งนี้จึงควรจัดทำมาตรฐานองุ่นของประเทศ เพื่อเป็นเกณฑ์ทางการค้า และสนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพของผลิตผล โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ จะครอบคลุมข้อกำหนดด้านคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับองุ่น (table grapes) ที่มีการจัดเตรียม และบรรจุหีบห่อ ไม่รวมองุ่นที่ใช้แปรรูปอุตสาหกรรม
มาตรฐานเห็ดหูหนูขาวแห้ง เป็นเห็ดเศรษฐกิจที่มีการซื้อขายมากติดอันดับโลก คนไทยนิยมบริโภคเห็ดหูหนูขาวแบบแห้ง เนื่องจากเก็บรักษาไว้ได้นาน เห็ดหูหนูขาวแห้งที่จำหน่ายในประเทศต้องนำเข้าเป็นมูลค่าสูงมาก โดยในปี 2563 นำเข้าเห็ดหูหนูขาวแห้ง มูลค่า 488 ล้านบาท แม้ว่าเห็ดหูหนูขาวแห้งจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงแต่ก็มีความเสี่ยง ที่จะปนเปื้อนอันตรายแฝงมา เพื่อให้มีเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานที่ชัดเจน จึงเห็นควรจัดทำมาตรฐานเห็ดหูหนูขาวแห้งของไทย เพื่อใช้ตรวจสอบรับรองคุณภาพเห็ดหูหนูขาวแห้งที่มีจำหน่ายในประเทศ รวมถึงใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงทางการค้า โดยใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร กับเห็ดหูหนูขาวแห้ง (dried white jelly mushroom) ตามนิยามผลิตภัณฑ์ที่บรรจุเพื่อจำหน่าย สำหรับนำไปปรุงอาหารหรือแปรรูปเป็นอาหาร
มาตรบรอกโคลี เป็นผักที่จัดอยู่ในกลุ่มของผักตระกูลกะหล่ำที่มีการนำเข้าและมีการขยายพื้นที่ปลูกในประเทศมากขึ้น โดยในปี 2564 มีพื้นที่ปลูกบรอกโคลี 175.5 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 181.35 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 1,495.67 กิโลกรัม ทั้งนี้ มีการนำเข้าบรอกโคลี 21,475.19 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 459 ล้านบาท ในปี 2559 คณะทำงานจัดทำมาตรฐานอาเซียนสำหรับผลิตผลพืชสวนและพืชอาหารอื่น ๆ ได้ประกาศมาตรฐานอาเซียน เรื่อง บรอกโคลี ดังนั้นไทยจึงควรมีการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง บรอกโคลี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน สำหรับใช้ส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับประเทศ โดยใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร ใช้กับหัว (ส่วนที่เป็นกลุ่มช่อดอกและลำต้น) ของบรอกโคลีประเภทหัว (heading type) / พันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้า เพื่อจำหน่ายในรูปผลิตผลสดแก่ผู้บริโภค ไม่รวมบรอกโคลีที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรม
มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ. 9037-2555) มีการประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2555 สำหรับนำไปใช้ควบคุมกระบวนการจัดการของลานเททะลายปาล์มน้ำมันให้มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นควรให้มีการทบทวนมาตรฐานฉบับดังกล่าว เพื่อให้การปฏิบัติของลานเททะลายปาล์มน้ำมันสอดคล้องกับการปฏิบัติในปัจจุบัน และปรับปรุงข้อกำหนดให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
มาตรฐานการชันสูตรโรคนิวคาสเซิล เป็นโรคระบาดสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และเป็นโรคที่อยู่ในบัญชีรายชื่อโรคระบาดสัตว์บกขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organisation for Animal Health; WOAH) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกของประเทศ ตลอดจนเกิดปัญหาการส่งออก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยมาตรฐานสินค้านี้ กำหนดการชันสูตรโรคนิวคาสเซิล ครอบคลุมตั้งแต่การเก็บตัวอย่าง การรักษาตัวอย่าง เพื่อการชันสูตร การตรวจหาและจำแนกเชื้อ รวมถึงการตรวจการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้วย
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี