‘ตรีนุช’ลั่น!แยกวิชา‘ประวัติศาสตร์’ ไม่ใช่บังคับ‘เด็กรักชาติ’ เตรียม‘ครู’รองรับ
28 พฤศจิกายน 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจ และให้ความสำคัญกับเยาวชนในการเรียนวิชาประวัติติศาสตร์เพื่อให้ตระหนักรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์และความรักชาติ รวมถึงความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของเรานั้น
“ตนจึงขอให้ที่ประชุมบอร์ด กพฐ.พิจารณาในการแยกวิชาประวัติศาสตร์ เป็นอีกวิชาหนึ่ง เป็นการเรียนประวัติศาสตร์แบบใหม่ ไม่ใช่เรียนแบบท่องจำแบบเดิมๆ เพราะการเรียนแบบท่องจำไม่ได้ช่วยให้การเรียนรู้ในอดีตนำไปสู่การพัฒนาอนาคต และไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชาติของเรา การจะให้เด็กรุ่นใหม่มีความตื่นตัวและเข้าใจบรรพบุรุษของเราที่ได้ผ่านขบวนการต่างๆมานั้นมีขบวนการคิดและผ่านในแต่ละช่วงเวลามาได้อย่างไร” รมว.ศธ. กล่าว
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มอบให้บอร์ด กพฐ.พิจารณาแนวทางการพัฒนาครูวิชาประวัติศาสตร์ โดยครูจะต้องมีวิธีการสอนที่จะทำให้เด็กสนใจเรียนประวัติศาสตร์อย่างสนุกมากขึ้น โดยใช้ขบวนการเรียนแบบแอคทีฟเลินนิ่ง เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์สนุกไปกับการเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อให้เด็กซึมซับและเรียนรู้ว่าประวัติศาสตร์ของเราทำอะไรมาบ้างและจะต่อยอดการทำงานและตระหนักรู้ในความเป็นชาติของเรา ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ ดังนั้น วิชาประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาชาติ ขบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้กับเด็กจะต้องเปลี่ยนขบวนการเรียนรู้ใหม่ เช่น ทำอย่างไรให้เด็กรู้สึกสนุกและเกิดการคิดวิเคราะห์กับการเรียนประวัติศาสตร์มากขึ้นและน่าสนใจมากขึ้น รวมถึงมีความภูมิใจในความเป็นชาติของเรา
น.ส.ตรีนุช ยืนยันว่า การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาไม่ได้เป็นการบังคับให้เด็กรักชาติ แต่ต้องการปรับการเรียนประวัติศาสตร์ของเด็กให้มีความทันสมัยและน่าสนใจเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียน และไม่ได้กระทบกับงบประมาณ แต่เป็นการออกแบบโครงสร้างการเรียนใหม่
“ดังนั้นครูจะต้องปรับขบวนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้น่าสนใจขึ้น โดยครูจะต้องใช้สื่อที่ทันสมัยและสามารถนำสื่อต่างๆมาใช้ประกอบการสอนเพื่อให้การเรียนประวัติศาสตร์น่าสนใจ รวมถึงกิจกรรมขบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะต้องนำไปสู่การพัฒนาอนาคตชาติของเรา และต่อไปต้องมีการอบรมครูวิชาประวัติศาสตร์ และต้องมีครูเอกวิชาประวัติศาสตร์สอนโดยตรง โดยจะมอบให้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาเกลี่ยอัตราครูวิชาประวัติศาสตร์ต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า การแยกวิชาประวัติศาสตร์เป็นอีกวิชาหนึ่ง จะไม่ทำให้เด็กเรียนหนักขึ้น เพราะไม่ได้เพิ่มเวลาเรียน แต่เพื่อออกแบบโครงสร้างการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่เท่านั้น และเพื่อผลิตครูให้ตรงวิชาเอกประวัติศาสตร์ด้วย และจะไม่มีผลกระทบกับงบประมาณ
ขณะที่ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ เพื่อให้ประวัติศาสตร์เป็นตัวเชื่อมโยงอดีตสู่อนาคต และเชื่อมโยงทั้งมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม หน้าที่พลเมือง ดังนั้นการที่แยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาจะช่วยเชื่อมโยงการสร้างระหว่างหน้าที่ กับการพัฒนา เดิมวิชาประวัติศาสตร์จะเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญในวิชาสังคมศึกษาที่เรียนทั่วๆไป แต่ครั้งนี้เราจะใช้แยกวิชาประวัติศาสตร์ให้เรียนรู้ถึงความทุ่มเท ความเสียสระที่ผ่านมาในอดีต และแนวคิดต่างๆในการสร้างชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การปกครอง ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคมีผลกระทบอย่างไร และต่อไปจะพัฒนาสู่อนาคตอย่างไร รวมถึงหน้าที่ของตนเองจะเป็นอย่างไร จะนำไปพัฒนาสู้อนาคตที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ให้เรียนประวัติศาสตร์ว่าเหตุการณ์นี้เกิดเมื่อไร หรือเพราะอะไรเขาจึงคิดอย่างนี้ และดำเนินการเช่นนี้
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี