สธ.ชี้โควิดไทยดีขึ้นต่อเนื่อง
ติดเชื้อลดลง 53%
อย.ขยายอายุไฟเซอร์ 15 เดือน
หมอชูผลวิจัยวัคซีน 2 สายพันธุ์
ลดเสี่ยงป่วยหนัก-ตายกว่า 80%
กรมควบคุมโรคชี้แนวโน้มโควิดไทยดีขึ้นต่อเนื่อง สัปดาห์แรกของปี’66 ติดเชื้อรายใหม่ลดลง 53% ปอดอักเสบ-ใส่ท่อหายใจลดลง กลุ่มติดเชื้อเสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่ม 608 สาเหตุหลักจากไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือได้รับเพียงเข็มเดียว ด้าน อย.ขยายอายุวัคซีนไฟเซอร์ จาก 9 เป็น 15 เดือน ด้านหมอจุฬาฯชี้วัคซีน Bivalent ช่วยลดความเสี่ยงป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 81% และลดความเสี่ยงเสียชีวิต 86%
เมื่อวันที่ 10มกราคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ประจำสัปดาห์ที่ 1 ปี 2566 ระหว่างวันที่ 1-7 มกราคม พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) 997 ราย เฉลี่ยวันละ 142 ราย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ 52 ของปี2565 พบว่าแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่ลดลงถึงร้อยละ 53 เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 382 ราย ลดลงร้อยละ 28 ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 247 ราย ลดลงร้อยละ 30
ส่วนผู้ป่วยยืนยันเสียชีวิต 58 ราย เฉลี่ยวันละ 8 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 มากถึง 57 ราย ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากการไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว 32 ราย ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแต่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 16 ราย ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มสุดท้ายนานเกิน 3 เดือน 10 ราย ในจำนวนนี้จะสังเกตว่าผู้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ช่วง 3 เดือนก่อนป่วย ไม่พบการเสียชีวิตเลย ยืนยันได้ว่าวัคซีนมีส่วนช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ชัดเจน
อธิบดีกรมควบคุมโรคยังแนะนำให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อลดความรุนแรงและอัตราเสียชีวิตหากติดเชื้อ โดยขณะนี้วัคซีนเตรียมพร้อมมีเพียงพอในทุกพื้นที่ จึงขอย้ำว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์โควิดดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งที่เห็นชัดมาจากประสิทธิผลของวัคซีนที่ได้รับ ประชาชนควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังจากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 ปีเดือน
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ที่รับวัคซีนโควิด-19 แล้วมากกว่า 146 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มที่หนึ่ง 57 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรร้อยละ 82.7 เข็มที่สอง 54 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร ร้อยละ 77.7 และเข็มกระตุ้นเข็มที่สามมากกว่า 27 ล้านโดส เข็มที่สี่ 6 ล้านโดส
“ข้อมูลทางวิชาการที่ทั่วโลกยอมรับคือ วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ชัดเจน และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับให้วัคซีนไฟเซอร์สูตรต้นตำรับ 8 รุ่นการผลิต ที่ไทยนำเข้าขยายอายุวัคซีนจาก 9 เดือน เป็น 15 เดือน เนื่องจากการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -60 ถึง -90 องศาเซลเซียส โดยไม่เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิออกนอกช่วงสภาวะการเก็บรักษา จะทำให้วัคซีนยังคงประสิทธิภาพ รวมถึงความปลอดภัย”นพ.โสภณกล่าว
และว่า สำหรับประชาชนที่กังวลใจ หรือเคยมีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนชนิด mRNA สธ.เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าไว้ให้บริการตามความสมัครใจ ติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
วันเดียวกัน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเมื่อวันที่ 9 มกราคมว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 191,994 คน ตายเพิ่ม 955 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 668,843,970 คน เสียชีวิตสะสม 6,714,874 คน โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีนและฮ่องกง
ส่วนความคืบหน้าการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ชนิด Bivalent หรือวัคซีน 2 สายพันธุ์ ล่าสุด นักวิชาการจากประเทศอิสราเอลเผยแพร่ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนชนิด Bivalent ศึกษาในประชากรสูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปรวม 622,701 คน โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีน Bivalent 85,314 คน และกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน Bivalent 537,387 คน พบว่า วัคซีน Bivalent ช่วยลดความเสี่ยงป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 81% และลดความเสี่ยงเสียชีวิต 86% ในช่วง 2 เดือนที่ติดตามผล สะท้อนประโยชน์การใช้วัคซีน Bivalent สอดคล้องกับหลายการศึกษาก่อนหน้านี้
นพ.โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข กล่าวถึงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางเข้าไทยมากถึง 5 ล้านคน หลังวันที่ 8 มกราคมว่า รัฐบาลควรเตรียมความพร้อม โดยถือหลักส่งเสริมปลอดภัยและรักษา เพื่อใช้เป็นแนวทางรับมือนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ไม่เฉพาะชาวจีนเท่านั้น โดยการส่งเสริมคือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยต้องมีประวัติฉีดวัคซีนมาแล้ว 3-4 เข็ม พร้อมส่งเสริมให้รู้จักป้องกันตัวเองระหว่างท่องเที่ยวในประเทศไทย การป้องกันหลักๆคือ การให้บริการทางการแพทย์ต้องพร้อมดูแลนักท่องเที่ยวอย่างดี และสร้างมาตรฐานในการรักษา ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างระบบป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในแหล่งท่องเที่ยวต้องมีมาตรฐาน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลทำได้เพียงกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด แต่ไม่ให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ บุคลากรแพทย์ที่ต้องสู้กับโควิดมาตลอด 3 ปี ทำงานหนักมาก หากยังต้องมาต่อสู้กับโควิดรอบใหม่ คงส่งผลกระทบกับขวัญกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์อแน่นอน ดังนั้น รัฐต้องมีความชัดเจนในการดูแลบุคลากรทางการแพทย์เต็มที่
นพ.โอชิษฐ์กล่าวต่อว่า อยากให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังการกลายพันธ์ของเชื้อโควิดในประเทศไทย ต้องทดสอบต้องทำงานหนัก เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์นประเทศไทยว่า วัคซีนที่มีอยู่ป้องกันได้หรือไม่ เพราะคนไทยและคนทั้งโลกต้องอยู่กับโควิดไปอีกนาน เราจะอยู่อย่างไรที่ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น รัฐบาลจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ การส่งเสริมการเฝ้าระวังต้องพร้อมตลอดเวลา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี