ครม.เห็นชอบเสนอ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม
24 มกราคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จาก UNESCO ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวัฒนธรรมของไทยเพราะพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจะช่วยให้สัดส่วนการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น และพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทไม่มีแผนงาน/โครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานอื่นที่จะกระทบต่อการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านเผือ จ.อุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 3,662 ไร่ ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ประมาณ 3,599 ไร่ และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ประมาณ 62 ไร่ มีหลักเกณฑ์ที่เข้าข่ายในการขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก 2 ข้อ คือ เกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม : เช่น สีมาหิน หรือภาพเขียนสีต่างๆ เป็นต้น และเกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัดของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น หลักฐานการตัดแต่งหิน เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น
“ความโดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท คือ มีความสำคัญด้านเป็นพื้นที่ที่พบหลักฐานการเข้ามาใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องมากกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐาน เช่น ภาพเขียนสีตามเพิงหิน จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ โดยปรากฏวัฒนธรรมโดดเด่นที่เรียกว่า “สีมา” เป็นการปักเสาหินล้อมรอบเพิงหินจนกลายเป็นลานศักดิ์สิทธิ์หรือลานพิธี ซึ่งเป็นการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับเพิงหินสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อแบบพระพุทธศาสนาในการปักเสาหินเพื่อกำหนดพื้นที่ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา ซึ่งเป็นแหล่งเดียวที่ตั้งอยู่บนภูเขาและยังคงสภาพสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุดในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” น.ส.ทิพานัน กล่าว
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้มีการจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท พ.ศ. 2565 - 2569 ซึ่งได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแผนดังกล่าวจะครอบคลุมการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์ เป็นต้น นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น กรมศิลปากร กรมป่าไม้ จ.อุดรธานี ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแล้ว
“ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลก 6 แห่ง แบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และยังมีมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่–ห้วยขาแข้ง ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าแก่งกระจานที่ประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2564 ภายใต้การดำเนินการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ของไทยให้มีความสำคัญเป็นมรดกของโลก นอกจากนี้ยังมีเมืองโบราณศรีเทพที่อยู่ระหว่างเสนอชื่อเข้าสู่บัญชีแหล่งมรดกโลก ตามมติ ครม. วันที่ 19 มกราคม 2564” น.ส.ทิพานัน กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี