กทม.ร่วมกับ CEA จัด “เทศกาลงานออกแบบ” Bangkok Design Week 2023 ดัน 9 ย่านศก. สร้างสรรค์ 4-12 ก.พ.นี้
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ดร.ชาคริต พิชญางกูรผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ตัวแทนเขตและภาคีเครือข่ายผู้ขับเคลื่อนย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมแถลงข่าว “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00-22.00 น. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง งานนี้จัดภายใต้ธีมหลัก “urban “NICE” zation หรือเมือง-มิตร-ดี” มีโจทย์หลักการออกแบบสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ฟื้นเมืองกรุงเทพฯให้ “น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว” อีกครั้ง จัดในพื้นที่ 9 ย่าน ต้อนรับการเปิดเมืองปี’66 คาดนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 100,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ตลอดการจัดเทศกาลฯ
นายศานนท์กล่าวว่า นโยบายสร้างสรรค์ดีของกรุงเทพมหานคร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจัดงาน 12 เทศกาลตลอดทั้งปี ดึงศักยภาพของย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566” ที่จะจัดในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะอยู่ภายใต้เดือนแห่งการออกแบบ “ออกแบบดี กรุงเทพฯ ดี” ของ กทม. เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ที่ใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีกระบวนการตั้งแต่การศึกษา พัฒนาต้นแบบ ทดสอบ ที่สำคัญคือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยนักออกแบบ จากการได้รับคัดเลือกให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก(UNESCO Creative City Network) สาขาด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design) เมื่อปี 2562
สำหรับย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมเทศกาลในปีนี้ ทั้ง 9 ย่านผู้สนใจสามารถเลือกท่องเที่ยวได้ตลอดทั้ง 9 วัน ของเทศกาลฯ แต่ละย่านจะมีอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่นแตกต่างกันไป ประกอบด้วย 1.ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย เป็น “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบของประเทศไทย” เพียบพร้อมด้วยศักยภาพทางวัฒนธรรม ใหม่-เก่าที่ผสมและผสานไว้ด้วยกัน 2.ย่านเยาวราช ภายใต้คอนเซ็ปต์ “CITY TROOPER X ACADEMIC PROGRAM” ชวนพลเมืองผู้มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเมืองและ 13 สถาบันการศึกษา ร่วมค้นหาความต้องการของเมืองที่ตอบโจทย์กับผู้คนและพื้นที่ เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ Bangkok City of Design ขององค์การยูเนสโก 3.ย่านสามย่าน-สยาม ศูนย์รวมแหล่งการเรียนรู้ และศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ 4.ย่านพระนคร/ปากคลองตลาด/นางเลิ้ง ย่านเมืองเก่าที่เกิดมาพร้อมกับกรุงเทพมหานคร มีความคลาสสิกพร้อมวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่น เป็นแหล่งรวมทุกความคิดสร้างสรรค์เพื่ออนุรักษ์ ต่อยอด และสร้างเรื่องราวบทใหม่ของกรุงเทพฯ 5.ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ “เปิดบ้าน เปิดย่าน เปิดเมือง” ให้ชมสตูดิโอ อาคารบ้านเรือน ร้านค้า ผลักดันให้เป็นย่านฮิบแห่งใหม่ กลายเป็นย่านสร้างสรรค์แห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ 6.ย่านพร้อมพงษ์ นำเสนอจุดโดดเด่นของย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง ขับเคลื่อนให้เติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นมิตรต่อการอยู่อาศัย และกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินที่มีเรื่องราวน่าค้นหา 7.ย่านบางโพ สานต่อตำนานถนนสายไม้แห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ถนนสายไม้บางโพ ตํานานที่มีชีวิต” 8.วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู/คลองสาน กิจกรรมภายใต้แนวคิดการส่งเสริมอัตลักษณ์ของย่านวงเวียนใหญ่-ตลาดพลู สู่การพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม ความเชื่อ อาหาร และศิลปกรรม และ 9.ย่านเกษตร ด้วยแนวคิด “GREEN LIVING กรีนดีอยู่ดี” ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย สร้างต้นแบบของชุมชน และไลฟ์สไตล์ของผู้คนในการใช้ชีวิตประจําวัน และที่อยู่อาศัยที่พอเหมาะ สมดุล และยั่งยืน
ดร.ชาคริตกล่าวว่า เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2566 จะเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดระบบนิเวศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งสร้างโอกาสและรายได้ทางธุรกิจ ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่าย รวมทั้งกระตุ้นย่านและผลักดันเมืองสร้างสรรค์กรุงเทพฯ โดยได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 นำเสนอโจทย์หลักของการออกแบบและความสร้างสรรค์ ที่จะช่วย “ทำเมืองให้เป็นมิตรที่ดี” ยิ่งขึ้น ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ เป็นมิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรที่ดีต่อคนเดินทาง เป็นมิตรที่ดีต่อวัฒนธรรม เป็นมิตรที่ดีต่อธุรกิจ เป็นมิตรที่ดีต่อชุมชน และเป็นมิตรที่ดีต่อทุกความหลากหลาย ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 9 ย่าน ผ่านกิจกรรมกว่า 530 กิจกรรมใน 4 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1.Showcase & Exhibition แสดงผลงานจากนักสร้างสรรค์ 2.Talk & Workshop ให้ความรู้และแนวคิดใหม่ทั้งจากในและต่างประเทศ 3.Creative Market & Promotion เปิดตลาดนัดสร้างสรรค์ 6 ตลาดทั่วกรุงเทพฯ กว่า 80 แบรนด์ดีไซน์ และ 4.Event & Program กิจกรรมสร้างบรรยากาศ และความเคลื่อนไหวกับเมือง อาทิ การแสดงดนตรี ฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง จัดเทคนิคแสงสีบนสถาปัตยกรรม รวมถึงการเปิดบ้านของคนในย่าน (Open House)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี