“Soft power” แปลเป็นไทยว่า “อำนาจละมุน” หรือบ้างก็ใช้“อำนาจอ่อน” เริ่มเป็นที่รู้จักและเห็นถึงความทรงพลังหลังจากที่เกิด “ลิซ่า เอฟเฟกต์” ก็ได้ทำให้ร้านลูกชิ้นยืนกินที่บุรีรัมย์ ขายดีถล่มทลาย สร้างยอดขายหมูกระทะย่านโชคชัย 4 พุ่งสูง ผู้คนแห่จองคิวแน่น มะม่วงน้ำปลาหวาน ของโปรดของลิซ่าและโรเซ่ ที่สร้างความสนใจและเป็นไวรัลบนสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว และที่เห็นได้ชัดอีกปรากฏการณ์หนึ่งคือ “ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์” จากที่ “มิลลิ” นักร้องชาวไทยได้ไปรับประทานบนเวทีดนตรี Coachella ทำให้เกิดกระแสบริโภคข้าวเหนียวมะม่วงที่ขยายตัวขึ้นหลายเท่า เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ประเทศไทยของเรา มีประวัติศาสตร์ยาวนานมีรากฐานและความพร้อมทางวัฒนธรรมอันงดงามล้ำค่า ที่สามารถนำมาเป็นทรัพยากร Soft Power ที่สะท้อนผ่านอาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม บันเทิง เพลง ภาพยนตร์ และสถานที่ท่องเที่ยว ที่เป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียงในด้านคุณภาพสินค้าและบริการไปทั่วโลก ผลดีที่ตามมาคือประเทศไทยกลายเป็นสถานที่ผู้คนนิยมมาท่องเที่ยวเยี่ยมชม มาลงทุน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม และอื่นๆ ที่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อคนไทยทุกคน
รัฐบาลได้เห็นถึงจุดแข็งของ Soft Power ความเป็นไทย จึงได้มีนโยบายการส่งเสริมการใช้พลัง Soft Power ความเป็นไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) ให้อยู่ในระดับโลก และได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power กำกับนโยบาย กำหนดเป้าหมายและวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา Soft Power ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกรรมการ
อีกทั้ง ยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการในมิติทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ยกระดับสถานะงานวัฒนธรรม สร้างรายได้และคุณค่าทางสังคม สร้างภาพลักษณ์และความร่วมมือ ของผู้คนในประชาคมโลกบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ.2566-2570) โดยมีเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการได้แก่ การกำหนดจุดยืนด้าน Soft Power การสังเคราะห์แบรนด์ประเทศไทย และการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ บนฐานข้อมูลเชิงสังคมและเศรษฐกิจที่จำเป็น อาทิ การถอดรหัสอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเฟ้นหาทุนทางวัฒนธรรมใหม่ๆ การบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน Soft Power ที่ยั่งยืน การจัดทำนโยบายและมาตรการใหม่ๆ ที่ยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคศิลปวัฒนธรรมของไทยในระดับสากล การจัดทำและพัฒนาสถิติ ดัชนี ตัวชี้วัดด้านวัฒนธรรม ทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจให้มีมาตรฐาน กำกับ ติดตาม และประเมินประสิทธิภาพของการนำแผนและนโยบายไปปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนSoft Power ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และแผนที่เกี่ยวข้องทุกระดับ
ส่วนการขับเคลื่อน Soft power ความเป็นไทย ในปีนี้ วธ. จะร่วมกับกองทัพบกผลักดันมวยไทย ให้เป็น Soft Power ที่สร้างชื่อเสียงให้ไทย สนับสนุนการต่อยอดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกให้เชื่อมโยงกับการพัฒนา Soft Power ไทย สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการใหม่
สนับสนุนและต่อยอดการท่องเที่ยวชุมชนที่มีต้นทุน“สุดยอดชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชน ยลวิถี” 20 แห่ง เดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาพยนตร์ โดยให้ใช้ทรัพยากรบุคคล สถานที่ถ่ายทำของไทย อีกทั้งเริ่มเก็บข้อมูลเชิงสถิติเพื่อเช็คว่าประเทศของเรามีศักยภาพในด้านใดอีกบ้างนอกเหนือจาก 5 สาขาที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการขับเคลื่อน Soft Power สู่ระดับโลก
Soft Power ความเป็นไทย ถูกวางตัวให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักที่จะสร้างรายได้เลี้ยงดูคนทั้งประเทศ ซึ่งในทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่เรามี Soft Power ที่มีคุณค่าและโดดเด่นอยู่แล้ว การจะทำให้มีพลังมากที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้นั้น ทุกๆ ฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อน ต้องมีการบริหารจัดการที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีการลงทุนในการพัฒนาอย่างเหมาะสม ถึงแม้จะใช้เวลาและทุนทรัพย์มหาศาล แต่ถ้าทำได้ ผลที่ตามมานั้นคุ้มค่าอย่างแน่นอน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี