แรงงานเฮ!ครม.ไฟเขียวขึ้น‘ค่าแรง’ตามมาตรฐานฝีมือ เพิ่มเติม 17 สาขา
31 มกราคม 52566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (31 ม.ค.66) เห็นชอบประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สำหรับแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 17 สาขา เพื่อส่งเสริมให้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน
สำหรับแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 17 สาขา ได้แก่
กลุ่มช่างอุตสาหการ ประกอบด้วย ช่างระบบส่งถ่ายกำลัง ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 495 บาท ช่างระบบปั๊มและวาล์ว ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 515 ช่างประกอบโครงสร้างเหล็ก ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 500 ช่างปรับ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ผู้ควบคุมระบบงานเชื่อมมิก - แม็ก ด้วยหุ่นยนต์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 520 บาท และช่างเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 545 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 635 บาท และระดับ 3 ไม่ต่ำกว่าวันละ 715 บาท
กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล ประกอบด้วย สาขาช่างซ่อมรถแทรกเตอร์การเกษตร ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 465 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 535 บาท และระดับ 3 ไม่ต่ำกว่าวันละ 620 บาท สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตักหน้าขุดหลัง ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 585 บาท สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถขุด ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 570 บาท สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถลากจูง ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 555 บาท และสาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตัก ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 520 บาท
กลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ ประกอบด้วย นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (โภชนบำบัด) นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (วารีบำบัด) นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (สุคนธบำบัด) ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 600 บาท พนักงานผสมเครื่องดื่ม ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 475 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 525 บาท และระดับ 3 ไม่ต่ำกว่าวันละ 600 บาท การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 530 บาท และช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 520 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 600 บาท
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2555 คณะกรรมการจ้าชุดที่ 18-21 ได้กำหนดอัตรา "ค่าแรง" ตามมาตรฐานฝีมือแรงแล้วจำนวน 112 สาขา เมื่อรวมกับที่กำหนดใหม่ในครั้งนี้อีก 17 สาขา รวมเป็น 129 สาขา
ทั้งนี้การกำหนดอัตราค่าจ้าง ตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน จะส่งผลให้ลูกจ้าง ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีค่าจ้างที่เหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือแรงงาน ความรู้ ความสามารถและการจ้างงานในตลาดแรงงาน
ส่วนลูกจ้างทั่วไปการปรับค่าแรง ถือเป็นแรงจูงใจให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน และ เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ด้านผู้ประกอบการสามารถคัดเลือกแรงงานที่ฝีมือดีเข้าทำงาน ซึ่งจะทำให้สินค้าและบริการมีคุณภาพและมาตรฐาน ลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตเพราะจะไม่เกิดความผิดพลาดระหว่างการผลิต รวมทั้งการปรับอัตราค่าแรง ใน 17 สาขาอาชีพ จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกึ่งฝีมือ และ แรงงานฝีมือ ในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มศักยภาพแรงงานไทย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ลูกจ้างตามเกณฑ์ที่ประกาศ หากมีความต้องการจะใช้สิทธิ์ ให้ยื่นหนังสือรับรอง ว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือในอาชีพ และ สาขาระดับนั้นแก่นายจ้างโดยเร็ว และเมื่อนายจ้างได้รับหนังสือแล้ว ให้จ่ายค่าจ้างตามอัตราประกาศนี้ให้แก่ลูกจ้าง นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองเป็นต้นไป หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี