พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน “90 ปีแห่งความยั่งยืน ร่มเย็นเป็นสุข เจริญด้วยธรรมะ ณ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยฯ” โดยเป็นการประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรครั้งที่ 52 เรื่อง “การสนับสนุนให้สมาคมพระพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรส่งเสริมสังคมพุทธ” ระหว่างวันที่ 27-28ก.พ. 2566 ณ หอประชุมกองทัพเรือเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร (กทม.)
สำหรับกิจกรรมในวันที่ 27 ก.พ.2566 นั้น มีการปาฐกถาธรรม หัวข้อ “สังคมยั่งยืน ร่มเย็นเป็นสุขและเจริญด้วยธรรม” โดยองค์ปาฐก คือ พระพรหมบัณฑิต (ศาสตราจารย์, Ph.D.) กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร กล่าวว่า การทำงานด้านพระพุทธศาสนานั้น แม้จะมีเทคโนโลยีช่วยในการประชุมทางไกล แต่การศึกษาและปฏิบัติธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพบหน้ากัน เห็นได้จากการเรียนการสอนธรรมะที่มีอยู่มากมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) แต่คนก็ยังต้องการแรงบันดาลใจ ศรัทธาและการพบปะกัน
เมื่อดูวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะพบว่ามีทั้งวัตถุประสงค์เพื่อพระพุทธทางศาสนา เช่น สนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาทั้งในและต่างประเทศ ศึกษาและเผยแพร่หลักธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ในฐานะพุทธบริษัท และวัตถุประสงค์เพื่อสังคม เช่น เสริมสร้างสามัคคีธรรม ประกอบการสาธารณกุศล สังคมสงเคราะห์ จิตอาสา ขณะเดียวกัน การมี “กัลยาณมิตร” เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนา หรือพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ยังสามารถดำรงอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน
“เราเป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมสมาคม เป็นสหายกัน แล้วก็มีความรักความเมตตา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อยู่ในวงการเดียวกัน มันทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ถ้าสมาคมนี้ไม่มีระบบกัลยาณมิตร-กัลยาณสหาย อยู่ไม่ได้มา 90 ปี เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นฐานของสมาคมแล้วความเป็นมิตรเป็นสหายก็มาพบกัน มาร่วมมือกันทำงาน เป็นแรงบันดาลใจแก่กันและกัน ความสมัครสมานสามัคคี ความร่วมมือ เป็นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนของพุทธสมาคม แล้วเมื่อตัวเองมีความยั่งยืนมั่นคง มันก็ออกไปช่วยสังคมโลกนี้ได้” พระพรหมบัณฑิต กล่าว
ประการต่อมา “การพัฒนาชาติต้องเริ่มที่คน-การพัฒนาคนต้องเริ่มที่ใจ-การพัฒนาจิตใจต้องเริ่มที่ตนเอง”สำหรับประเทศไทย ยุทธศาสตร์ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2580 ต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีความ “มั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน” บนหลักคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยคำว่า “ความมั่นคง” ในทางศาสนาไม่ใช่กล่าวเฉพาะความมั่นคงของชาติ แต่ยังรวมถึง“ความมั่นคงของมนุษย์” ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ให้นิยามว่า
1.Freedom from Fear หมายถึงการอยู่ด้วยกันแบบไม่ต้องหวาดระแวง ไม่จองเวรกัน หรือก็คือสามัคคีธรรม ซึ่งต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน กับ 2.Freedomfrom Hunger หมายถึงการอยู่แบบไม่อดอยากหิวโหย เราจะสบายใจได้อย่างไรในเมื่อเพื่อนมนุษย์ยังอดอยากหิวโหย และคนที่อดอยากหิวโหยก็ยากที่จะฟังธรรมอย่างมีสมาธิและปฏิบัติได้ภารกิจสาธารณกุศลหรือสังคมสงเคราะห์จึงเกิดขึ้นเพื่อบรรเทาเรื่องนี้
ขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มต้นที่หลัก “ทางสายกลาง”ผ่านการบูรณาการด้านต่างๆ ไปด้วยกัน1.แก้ความหิวโหย ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ 2.แก้ความขัดแย้ง ด้วยการพัฒนาสังคม 3.ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาทางวัตถุควบคู่กับทางจิตใจ ซึ่งจะแตกต่างจากการพัฒนาแบบสุดโต่งทางเศรษฐกิจอันนำมาซึ่งความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเช่น โรงงานปล่อยมลพิษ และต่อสังคม เช่น การท่องเที่ยวที่ทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม เกิดธุรกิจสีเทา สิ่งเหล่านี้ไม่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ภาพของมนุษย์ที่พัฒนาแล้วในพุทธศาสนาจะมีการพัฒนาอยู่ 4 ด้านด้วยกัน 1.กายภาวนา พัฒนาองค์ประกอบทางกาย ก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของสิ่งแวดล้อม 2.พัฒนาทางสังคม คือสีลภาวนา อยู่ร่วมกันอย่างสันติ 3.พัฒนาจิตใจ คือพัฒนาด้วยการปฏิบัติ กรรมฐานเป็นต้น ศีล สมาธิ ปัญญา และ 4.พัฒนาปัญญา ศึกษาธรรมะรวมทั้งอภิธรรม ทั้งหมดที่เป็นกิจกรรมนี้มันก็จะเป็นไปเพื่อการพัฒนาตามหลักพุทธศาสนา
ถ้าท่านไปเน้นแต่กายภาวนา ท่านก็สุดโต่งไปในด้านวัตถุ ถ้าท่านไปเน้นเรื่องจิตเรื่องปัญญา ปล่อยให้อดอยากหิวโหย เพราะฉะนั้นการพัฒนาที่พึงประสงค์ก็ต้องเป็นการพัฒนาที่สมดุล แนวเดียวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่เป้าหมายวิสัยทัศน์ประเทศไทย เดินหน้าไปด้วยกัน แต่เราก็จะต้องปรับทิฐิของคนไทย ให้เห็นคุณค่าของการพัฒนาสายกลาง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่เป็นไปเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน”พระพรหมบัณฑิต ระบุ
คำว่า “ทิฐิ” นั้นในภาษาอังกฤษคือ “Mindset” การปรับทิฐิก็คือ “ต้องไม่มุ่งพัฒนาแบบยิ่งทำแล้วยิ่งรกโลก(ซึ่งสุดท้ายก็ย้อนกลับมาทำลายตนเอง)” ซึ่งการพัฒนาที่รกโลกมาจาก “มิจฉาทิฐิ” คือการเห็นผิด จึงทำให้การพัฒนาไม่สอดคล้องกับทางสายกลางแต่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง และหากการพัฒนาชาติเริ่มต้นที่การพัฒนาคนแล้ว “คนเราต้องมีความรู้ทั้งทางโลก อันหมายถึงวิชาการต่างๆ และทางธรรม อันหมายถึงมีธรรมะกำกับการกระทำ” เปรียบได้กับมนุษย์ที่มีดวงตาสมบูรณ์มองเห็นทั้ง 2 ข้าง
ซึ่งการพัฒนาคนตามหลักพระพุทธศาสนาที่คนเราต้องมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมนั้น เปรียบได้กับหลักคิดการพัฒนาคนที่โลกตะวันตกเน้นย้ำว่า “คนเราต้องมีทั้งไอคิว (IQ)หมายถึงความฉลาดทางวิชาการ และอีคิว (EQ) หมายถึงความฉลาดทางอารมณ์” โดยอีคิวนั้นในทางพระพุทธศาสนาก็คือ “สติ” หรือภาษาอังกฤษคือ “Self-Awareness”หมายถึง “การรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง” จากนั้นนำไปสู่การมี “สัมปชัญญะ”หรือภาษาอังกฤษคือ “Self-Management” หมายถึง “การจัดการอารมณ์ตนเองได้อย่างเหมาะสม” ว่าสถานการณ์ไหนควรทำอะไร
เช่น เมื่อขับรถบนท้องถนน เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจ เริ่มรู้สึกโกรธแต่เมื่อรู้ว่าโกรธก็คิดต่อไปว่าสมควรทำอย่างไร จะไปมีเรื่องมีราวให้เสี่ยงกับการถูกอีกฝ่ายฆ่าตาย หรือไปฆ่าอีกฝ่ายตายแล้วตนเองต้องติดคุก แบบนี้คุ้มไหม? หรือจะระงับความโกรธโดยคิดว่าอย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ-อย่าราดน้ำมันลงบนกองไฟ เป็นต้น อนึ่ง นอกจากสติ-สัมปชัญญะ จะเป็นการรู้เท่าทันและบริหารจัดการอารมณ์ตนเองแล้ว ยังเป็นการรู้เท่าทันอารมณ์ผู้อื่น (Social Awareness) นำไปสู่การบริหารจัดการความสัมพันธ์ (Relationship Management) ระหว่างบุคคลด้วย
“ถ้าเราจะทำงานเพื่อสังคมเราต้องพัฒนาไปถึงจุดนี้ โดยเฉพาะเป็นผู้บริหาร มันจะได้ไม่เกิดความขัดแย้งกัน เพราะเรารู้ว่าเขาคิดอะไร เขารู้สึกอย่างไร เขาเครียด มันจะได้อะลุ้มอล่วยกัน รู้ทันอารมณ์ของคนอื่นแล้วด้วยสติ มองให้เห็น ฟังให้ได้ยิน เวลาเขาพูด บางทีเขาไม่ได้พูดถึงอารมณ์เขา แต่เรารู้ มีสติ แล้วเราควรจะตอบเขาอย่างไร จะจัดการอย่างไร เป็นปัญญา คือสัมปชัญญะ ก็คือ Relationship Management บริหาร นี่คืออีคิว สติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ลึกซึ้งอะไร เพียงแต่ต้องเอามาใช้ พระพุทธเจ้าจะบอกว่าสติสัมปชัญญะต้องมีตลอดเวลา” พระพรหมบัณฑิต อธิบาย
ในช่วงท้าย พระพรหมบัณฑิตได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “สัมปชัญญะ 4”หรือเกณฑ์พิจารณา 4 ประการ “คิดก่อนทำ”อันประกอบด้วย 1.เป็นประโยชน์หรือไม่?ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่จำเป็นต้องทำ2.ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่? เช่น การแต่งกายบางรุปแบบอาจเหมาะสมกับกับบางช่วงวัย หรืออาหารบางเมนูแม้จะอร่อยแต่ก็ไม่เหมาะสมกับภาวะทางสุขภาพ หรือการทุจริตนั้นไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนไม่ว่าในแง่ศีลธรรมหรือกฎหมาย
3.สอดคล้องกับหน้าที่ ณ เวลานั้นหรือไม่? เช่น คนคนหนึ่งอาจมีงาน มีกิจการ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบมากมาย แต่เมื่อเวลาใดต้องทำหน้าที่อะไรก็ควรเอาใจใส่ไปเฉพาะหน้าที่นั้นก่อน และ 4.รู้เท่าทันตนเองว่าที่ทำอยู่ใช้อารมณ์-ใช้อคติหรือไม่? มากน้อยเพียงใด? แล้วหาทางกำจัดอารมณ์หรือคติเหล่านั้นออกไป และโดยสรุปแล้ว “การจะสร้างสังคมที่มีธรรมะ มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา นำไปสู่สังคมที่พัฒนาแบบสมดุล ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งฝ่ายบรรพชิต (นักบวช) และคฤหัสถ์ (ฆราวาส)” และเมื่อร่วมมือด้วย “สัมมาทิฐิ” การทำงานเพื่อประโยชน์ก็เกิดขึ้นได้
ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ประธานองคมนตรี บรรยายพิเศษในหัวข้อ “พระพุทธศาสนากับความมั่นคงของชาติ” กล่าวถึงหลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ “อริยสัจ 4”ว่า ย้อนไปเมื่อตนเพิ่งรับราชการตำแหน่งร้อยตรีใหม่ๆ นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯไป จ.ลพบุรี เวลาว่างระหว่างอยู่บนรถไฟก็ได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพุทธประวัติเนื้อหาช่วงที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ (ภิกษุทั้ง 5) ว่าด้วย “ทุกข์” เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพราก ความผิดหวังไม่เป็นตามที่ต้องการ เป็นต้น
ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็คิดทบทวนชีวิตที่ผ่านมา จึงเข้าใจ “เหตุแห่งทุกข์” นั่นคือ “ความอยาก” อยากได้นั่น-เป็นนี่ไปเรื่อย “ทุกข์ไม่ได้เกิดจากที่ไหน..แต่เกิดจากใจเราเอง” หลังจากนั้นจึงเริ่มสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา “เมื่อลดความทุกข์ลงได้ความสงบก็มีมากขึ้น”หรือก็คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า “สุข-ทุกข์ เหมือนเหรียญสองด้าน” ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกมองด้านใด
พล.อ.สุรยุทธ์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน มีรับสั่งกับตนว่า “ทำอย่างไรจะให้เด็กๆ สนใจศึกษาพระพุทธศาสนา?” ซึ่งตนก็รับโจทย์นี้มาหารือร่วมกับองคมนตรีที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งในยุคสมัยปัจจุบัน วิธีการนั้นต้องใช้สื่อ ใช้กิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ในขณะที่การสอนหรืออบรมคงทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
“ผมได้พูดคุยกับท่านปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งท่านดูแลโรงเรียนใน กทม. ผมก็ได้เรียนท่านบอกว่ามาลองดูได้ไหม? ถ้าเราจัดกิจกรรมโดยคัดเลือกเด็กๆ ซึ่งเขามีความสนใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมอยากจะศึกษาเรื่องของความสวยงามของศิลปะในพระพุทธศาสนา เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธรูป เรื่องเกี่ยวกับศิลปะที่มีอยู่ในบริเวณวัด ซึ่งเรามีวัดที่มีความสำคัญมากมาย แล้วก็ให้เขาไปลองดู
มีกิจกรรมให้เขาไปลองดูว่า เขาไปถ่ายทำคลิปสั้นๆ แล้วก็เอามาให้เพื่อนๆ ดูกันได้อย่างไร มีการประกวดประขันกันว่าใครทำดี ใครทำได้เยี่ยม มันก็จะเป็นประโยชน์ทำให้เขาเกิดสนใจขึ้น ผมก็เลยคุยกับสมเด็จฯ วัดพระเชตุพนฯ ท่านก็เห็นด้วย ท่านก็บอกว่าที่วัดพระเชตุพนฯ ผมก็บอกว่าผมบอกท่านปลัดไว้แล้ว วัดโพธิ์นี่เป็นจุดหมายหลักที่น่าจะได้นำเด็กๆ เข้าไปดู แล้วก็มีเรื่องราวต่างๆ ที่ควรจะให้เขาได้เข้าใจอีกมากมาย” พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว
ประธานองคมนตรี กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนอยากฝากถึงพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นั่นคือโจทย์ที่ว่า “เราจะปูพื้นฐานให้เยาวชนของเราอย่างไร” ผู้ที่จะเข้าถึงพระอภิธรรมนั้นมีอยู่ แต่การจะปูพื้นฐานให้เป็นคนดีนั้นจะทำได้อย่างไร ทั้งนี้ สมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อน ท่านก็มีเรื่องที่ทรงนิพนธ์ไว้มากมายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และหลายเรื่องก็เหมาะสมในการนำมาถ่ายทอดให้ความรู้แต่ต้องอาศัยการดัดแปลง มีการหาสื่อใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ เพื่อให้เยาวชนเกิดความสนใจ
เพราะการที่ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความมั่นคงขึ้นนั้น พื้นฐานที่สำคัญคือการสร้างคนดีให้เกิดขึ้นในสังคม และการสร้างคนดีนั้นก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการสร้างเยาวชนให้เป็นคนดี “เยาวชนที่เป็นคนดีท้ายที่สุดก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นคนดี” และต้องย้ำว่า “พุทธบริษัทมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดความมั่นคงของพระพุทธศาสนา” จึงต้องไม่ปล่อยให้เป็นแบบสำนวนที่ว่า “ชั่วช่างชี-ดีช่างสงฆ์” เป็นหน้าที่ของทุกคนที่เป็นพุทธบริษัทต้องช่วยกัน
ยังมีการเสวนา เรื่อง “พระอภิธรรมจะช่วยพุทธศาสนาในประเทศไทยให้ยั่งยืนได้อย่างไร” โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน คือ 1.อาจารย์อาณัติชัย เหลืองอมรชัย 2.อาจารย์ดิษกฤตสาสนเวชช์ และ 3.อาจารย์ ดร.วิศิษฐ์ชัยสุวรรณ ดำเนินรายการโดย ดร.อัญชฎาพูลทัศฐาน และการอภิปราย เรื่อง “หน้าที่ของพุทธบริษัท” โดยมีผู้ร่วมอภิปราย 3 ท่าน คือ 1.พระเทพวัชราจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร 2.ดร.วิชัย ธรรมเจริญ กรรมการกลาง ผู้ช่วยเลขาธิการ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และ 3.ดร.อรทัย มีแสง นายกพุทธสมาคมจังหวัดชุมพร ดำเนินรายการโดยศ.(เกียรติคุณ) ธรรมศักดิ์พงศ์พิชญามาตย์ เลขาธิการพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยฯ
ส่วนกิจกรรมวันที่ 28 ก.พ. 2566 นั้น เป็นการประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรครั้งที่ 52เรื่อง “เราจะสนับสนุนให้สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรส่งเสริมสังคมพุทธได้อย่างไร” โดยมี อาจารย์ศุลีมาศ สุทธิสัมพัทน์ นายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นผู้กล่าวนำการอภิปราย จากนั้น ผู้แทนเครือพุทธสมาคมทั่วราชอาณาจักร4 ภาค เสนอข้อคิดเห็น โดยมีอาจารย์สุรวัฒน์ ชมภูพงษ์ อุปนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ดำเนินการอภิปราย
สำหรับ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2476 ซึ่งตรงกับ “วันมาฆบูชา” วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีผู้ร่วมก่อตั้ง 5 ท่าน ประกอบด้วย ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแพ่ง), หลวงวรพากย์พินิจ (เลขาธิการคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในสมัยนั้น), หลวงสิริราชไมตรี,พระราชธรรมนิเทศ (อธิบดีกรมธรรมการในสมัยนั้น) และ หลวงรณสิทธิ์พิชัย (อธิบดีกรมโฆษณาการในสมัยนั้น) ณ สามัคคยาจารย์สโมสรสถานกรุงเทพฯ
และยังดำเนินภารกิจส่งเสริม เชิดชู เผยแผ่พระพุทธศาสนา อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นปีที่ 90!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี