ประกาศปิด79พื้นที่ป่าอนุรักษ์
ป้องกันไฟป่าลาม
กรมอุทยานฯยกระดับคุมเข้ม
เผยพื้นที่ภาคเหนือยังวิกฤต
ไหม้อุทยานแห่งชาติแม่ปิง
คลอกสัตว์ป่าคากองเพลิง
เมียนมาเมินคุมจุดความร้อน
กรมอุทยานฯ ประกาศปิดควบคุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อป้องกันภัยพิบัติจากไฟป่าแล้ว จำนวน 79 แห่ง ในขณะที่ไฟป่าภาคเหนือยังวิกฤต ทำฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง อุทยานแห่งชาติแม่ปิงเศร้าสัตว์ป่าตายคากองเพลิง จับตาบอร์ด สวล. จ่อยกระดับคุมไฟป่า 15 มี.ค.นี้ ด้านเมียนมา เพื่อนบ้านไทยเมินคุมจุดความร้อน Hotspot นำโด่ง 6,701 จุด
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. จากสถานการณ์ไฟป่าทั่วประเทศ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความระบุว่า กรมอุทยานฯ ได้มีการพิจารณาประกาศปิด/ควบคุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อป้องกันภัยพิบัติจากไฟป่าแล้ว จำนวน 79 แห่ง ดังนี้ 1.สบอ.3 (บ้านโป่ง) จำนวน 1 แห่ง 2.สบอ.11 (พิษณุโลก) จำนวน 5 แห่ง 3.สบอ.12 (นครสวรรค์) จำนวน 5 แห่ง 4.สบอ.13 (แพร่) จำนวน 5 แห่ง 5.สบอ.13 สาขาลำปาง จำนวน 7 แห่ง 6.สบอ.14 (ตาก) จำนวน 11 แห่ง 7.สบอ.15 (เชียงราย) จำนวน 6 แห่ง 8.สบอ.16 (เชียงใหม่) จำนวน 18 แห่ง 9.สบอ. 16 สาขาแม่สะเรียง จำนวน 21 แห่ง
โดยแบ่งเป็น 1.อุทยานแห่งชาติ จำนวน 38 แห่ง 2.เตรียมการอุทยานแห่งชาติ จำนวน 8 แห่ง 3.วนอุทยาน จำนวน 11 แห่ง 4.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 20 แห่ง 5. เขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 2 แห่ง
ส่วนสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน ยังมีหลายจุดที่ยากต่อการเข้าไปถึง แม้บางพื้นที่จะสามารถควบคุมไฟป่าได้แล้ว พบลูกหมูป่าถูกรมควันตาย ขณะที่หลายจังหวัดยังประสบปัญหา วิกฤตค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
โดย อาสาสมัครดับไฟป่า และเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน เร่งดับไฟป่าจากอุทยานแห่งชาติแม่ปิง หลังกำลังลุกลามเข้าพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ติดกับอุทยานซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นต้นข้าวโพด ที่เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ
ซึ่งไฟป่ายังลุกลามมาจากป่ารอยต่อ อ.แม่พริก จ.ลำปาง เข้ามายังพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือ บริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติทุ่งกิ๊ก ทำให้ นายมัญญา นาคพน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ต้องสั่งปิดพื้นที่บริเวณทุ่งกิ๊กชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันและไฟป่า
ส่วนผลกระทบจากไฟป่า นอกจากต้นไม้ได้รับความเสียหาย สัตว์ป่ายังได้รับผลกระทบด้วย อย่างเช่นหมูป่า ที่ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าพิษณุโลก ที่เข้ามาช่วยดับไฟป่าในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง พบลูกหมูป่าถูกรมควัน จำนวน 2 ตัว ตาย 1 ตัว และรอดอีก 1 ตัว
ด้าน เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ใน จ.แม่ฮ่องสอน ยังคงระดมกำลังเข้าไปดับไฟป่าที่ขณะนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งเมื่อวานนี้มีจุดความร้อนเกิดขึ้นถึง 124 จุด ส่งผลทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ใน จ.แม่ฮ่องสอน เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง โดย นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สั่งการให้ นายอำเภอ 7 อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฉีดน้ำพื้นที่ต่างๆเพื่อลดฝุ่น
ส่วน ที่ จ.พิษณุโลก ยังเกิดไฟป่าขึ้นหลายอำเภอ โดยเฉพาะในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่าสาเหตุเกิดจากการลักลอบเผา ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งดับและเฝ้าระวังป้องกัน บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
ที่ จ.ตาก นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล นายอำเภอแม่สอด ได้บูรณาการประสานผู้นำหมู่บ้านและเครือข่าย เพื่อตรวจตราลาดตระเวนป้องกันไฟป่าในพื้นที่เสี่ยง หลังค่าฝุ่นยังเพิ่มเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง พร้อมประสานกับประเทศเมียนมา เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันชายแดน
กรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศวันนี้ภาคเหนือทุกจังหวัดค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน โดยค่าฝุ่นมากสุดอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สุโขทัย วัดได้ 132 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
วันเดียวกัน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า สถานการณ์หมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีนี้วิกฤต พบปัญหาต่อเนื่องมาตลอดสัปดาห์
สาเหตุมาจากการเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่เกษตรทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน ซึ่งพบจุดความร้อน (Hotspot) เพิ่มสูงมากกว่า 2,500 จุด ทั้งที่เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ รวมทั้งท้องถิ่นที่ได้รับถ่ายโอนภารกิจดับไฟป่า ทำงานหนักดับไฟป่า แต่ยังควบคุมไม่ได้
ปลัด ทส. กล่าวว่า สำหรับจุดความร้อนที่พบในประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งยกระดับการแจ้งเตือนไปยังประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับ 2 มีหนังสือขอความร่วมมือในระดับประเทศแล้ว ตั้งแต่ยังอยู่ในระดับ 2 คือจุดความร้อนเกิน 150 จุดต่อวัน
โดยวันที่ 15 มี.ค.นี้ ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องนำปัญหาที่เกิดขึ้นมากางให้เห็นรายละเอียด เพื่ออุดช่องว่างให้ทันสถานการณ์ไฟป่าที่เข้าสู่ช่วงพีค อะไรที่ยกระดับทางมาตรการและบูรณาการดับไฟ ต้องทำให้เร็วที่สุด
ปลัด ทส.ยังระบุว่า ขณะนี้ไม่เชื่อว่าไฟป่าที่รุนแรงจะมีสาเหตุจากการโอนภารกิจให้ท้องถิ่นกว่า 2,000 แห่ง จะมาจากการขาดงบประมาณ แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อภารกิจหรือไม่ ซึ่งจุดนี้ต้องรอฟังคำชี้แจงจากกระทรวงมหาดไทย
ขณะที่ GISDA รายงานข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ไทยพบจุดความร้อน 2,583 จุด ส่วนเมียนมานำโด่ง 6,701 จุด, กัมพูชา 2,125 จุด, สปป.ลาว 1,434 จุด, เวียดนาม 147 จุด และมาเลเซีย 2 จุด
สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,378 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 541 จุด, พื้นที่เกษตร 267 จุด, พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 228 จุด, พื้นที่เขต สปก. 155 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 14 จุด
ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับคือ จ.กาญจนบุรี 597 จุด, ตาก 200 จุด และแม่ฮ่องสอน 117 จุด ตามลำดับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี