หากเอ่ยถึงเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นไทย “ผ้าขาวม้า” คือหนึ่งในความภาคภูมิใจที่อยู่กับคนไทยมานานหลายยุคสมัย เกือบทุกท้องถิ่นใช้ผ้าขาวม้าเป็นผ้าอเนกประสงค์ใช้ในชีวิตประจำวัน และถึงแม้ผ้าขาวม้าจะแสดงถึงความธรรมดา แต่เบื้องหลังของความพื้นๆ นั้น มีความเป็นมารวมถึงมีพัฒนาการจากอดีตถึงปัจจุบันที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ความเป็นมาของผ้าขาวม้า มีข้อสมมุติฐานที่มาหลากหลาย แต่ก็มีข้อที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ ผ้าขาวม้า เป็นคำเพี้ยนมาจากภาษาอิหร่าน โดยคำว่า “ขาวม้า” เพี้ยนมาจากคำว่า “คามาร์ บันด์” (Kamar Band) ซึ่งแปลว่าผ้าคาดเอว ผ้าขาวม้า
เริ่มเข้าสู่ดินแดนไทยมาแต่โบราณ หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดบ่งชี้ว่าเริ่มมีการใช้ผ้าขาวม้าในอาณาจักรโยนกนาคนครหรือโยนกเชียงแสน ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 หลักฐานดังกล่าวคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นภาพการแต่งกายของชาวบ้านโดยผู้ชายใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่าหรือเคียนเอว ซึ่งแตกต่างจากชนชั้นสูงที่แต่งกายคล้ายขอมโบราณ
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภาพเขียน “ไตรภูมิ อยุธยา” ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ปรากฏว่า ชาวอโยธยานิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่า คาดเอว นิยมนุ่งโจงกระเบนแล้วใช้ผ้าขาวม้าคล้องคอ ตลบห้อยชายทั้งสองไว้ด้านหลัง นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ผ้า “คาดเกี้ยว” ในกลุ่มชนชั้นสูงและขุนนาง เป็นผ้าหน้าแคบกว่าผ้านุ่ง มีลายเป็นดอกโตสีต่างๆคาดทับเอวเพื่อให้กระชับแน่นขึ้นคล้ายกับที่ชาวบ้านใช้คาดเอว แต่ผ้าคาดเกี้ยวจะมีลวดลายสีสันที่สวยงามกว่าผ้าคาดเอวของชาวบ้านทั่วไปในสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านทั้งชายหญิงนิยมใช้ผ้าขาวม้ามาทำประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยไม่ได้จำกัดไว้เพียงเป็นเครื่องแต่งกายเท่านั้น แต่นำมาใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นด้วย ตั้งแต่ใช้พาดบ่าเคียนเอว โพกศีรษะ เช็ดเหงื่อ ใช้ปูนั่งปูนอน นุ่งอาบน้ำ ผูกเปลนอนให้เด็กทารก ใช้เป็นผ้าบังเมื่อให้นมลูก เป็นผ้าม่านกันแดด เป็นต้น
ผ้าขาวม้าในไทยปัจจุบัน มีหลากหลายลวดลาย หลายรูปแบบตามแต่ละท้องที่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผ้าขาวม้าพระนครศรีอยุธยา ผ้าขาวม้าชัยนาท ผ้าขาวม้าศรีสะเกษ ผ้าขาวม้าสุรินทร์ ผ้าขาวม้ามหาสารคาม ผ้าขาวม้าน่าน ผ้าขาวม้ากาญจนบุรี ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าผ้าขาวม้านั้นเป็นที่นิยมใช้กันในแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย แต่ละที่ก็มีการใช้วัตถุดิบ หรือการใช้สีสันที่แตกต่างกันหลายๆ แห่งอาจจะใช้เส้นใยสังเคราะห์ หรือเส้นด้ายย้อมสีจากธรรมชาติ เพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดในหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย
นอกเหนือจากการใช้งานดังที่กล่าวมา ยังมีการใช้ผ้าขาวม้าประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อสร้างสรรค์ผลงานเป็นสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เครื่องแต่งกายอย่าง เสื้อ กระโปรง หมวก หรือของใช้อื่นๆ อย่างกระเป๋าสะพาย ผ้าพันคอ กระเป๋าใส่แว่น ร่ม สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในการใช้งานผ้าขาวม้าที่ยังคงไม่เสื่อมคลายไปตามยุคสมัย
เมื่อปี 2556 ผ้าขาวม้าได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย และผ้าขาวม้าได้มีความสอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ตามเกณฑ์ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ตามนิยามในอนุสัญญาฯใน 3 ลักษณะคือ การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมงานเทศกาล, ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และงานช่างฝีมือดั้งเดิม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงได้นำเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณา และเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอผ้าขาวม้า ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะนำเสนอไปยังยูเนสโกภายในเดือนมีนาคม 2566 นี้ โดยเป็นไปตามเอกสารแนวทางการอนุวัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Operational Directives for the implementation of the Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) หัวข้อที่ 1.15 กำหนดให้รัฐภาคียื่นเสนอรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
กระทรวงวัฒนธรรมได้ขับเคลื่อนการนำเสนอมรดกวัฒนธรรมไทยให้ไปสู่การเป็นมรดกโลกเสมอมา มีผลงานที่สำเร็จและปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม ได้แก่ การนำเสนอมรดกวัฒนธรรมไทยจนได้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติได้แก่ โขน (พ.ศ. 2561) นวดไทย (พ.ศ. 2562) และโนรา (พ.ศ. 2564) และได้นำเสนอพิจารณา ได้แก่ สงกรานต์ ในประเทศไทย ต้มยำกุ้ง และผ้าขาวม้าดังกล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี