สกศ.ปักหมุดกลยุทธ์ “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” ฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัย ทางรอดประเทศไทย
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าว "3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม : ฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัย ทางรอดประเทศไทย" โดยมี นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานคณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย, ผศ.ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, นางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย, นางนันทิชา ไวยนพ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมถ่ายทอดบทเรียนและนวัตกรรมการแก้ปัญหาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัยหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า กว่า 3 ปี ของการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด ผลักให้เด็กเข้าสู่ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ความสูญเสียโอกาสที่จะได้สร้างพัฒนาการยิ่งซ้ำเติมให้เด็กยุคโควิดกลายเป็น Lost Generation หลุดออกจากระบบการศึกษา ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างรุนแรง โมเดล 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม จึงเป็นทางรอดของไทยที่จะช่วยฟื้นคืนพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้สมวัยและเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข ประกอบด้วย 3 เร่ง ได้แก่ 1.เร่งกำหนด “การฟื้นฟูเด็กปฐมวัย เป็นวาระแห่งชาติ” เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นไปทั้งระบบจนเกิดผล 2.เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก และสังคม และ 3.เร่งค้นหา เยียวยา และพัฒนาเด็กในภาวะเปราะบาง
“3 ลด ได้แก่ 1.ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง 2.ลดความเครียดคืนความสุขแก่เด็ก และ 3.ลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก 3 เพิ่ม ได้แก่ 1.เพิ่มกิจกรรมฟื้นฟูพัฒนาการที่เสียไป โดยเฉพาะเพิ่มกิจกรรมทางกาย เพิ่มการอ่านนิทาน และเพิ่มการเล่น 2.เพิ่มสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และ 3.เพิ่มศักยภาพบุคลากรและระบบนิเวศใกล้ตัวเด็ก ผ่านการเสริมพลังครอบครัว สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และเครือข่ายชุมชน โดยคณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาแล้ว โดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้ให้ความเห็นชอบและมีมติให้เสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เพื่อกำหนดให้การฟื้นฟูเด็กปฐมวัย เป็นวาระแห่งชาติให้ได้หากการฟื้นฟูเด็กปฐมวัยถูกบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างจริงจังต่อเนื่อง” ดร.สุเทพ กล่าว
ด้าน นางสุภาวดี กล่าวว่า ถือเป็นการฉายความหวังในการส่งเสริมเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน ได้แก่ บทบาทใหม่ของครูและผู้ปกครองต่อการฟื้นฟูพัฒนาการเด็ก วิธีการดูแลสุขภาพใจของเด็กเล็กในช่วงโควิด การช่วยเหลือเด็กให้ก้าวข้ามภาวะสูญเสียทางการเรียนรู้ และการเลี้ยงลูกให้สอดคล้องกับบริบทสมัยใหม่ โดยเฉพาะการใช้สื่อหน้าจอหรือโทรศัพท์มือถือที่งานวิจัยจากทั่วโลกชี้ชัดว่าทำลายสมองเด็กเล็กอย่างรุนแรง และห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบอย่างเด็ดขาด จากนี้ คณะอนุกรรมการสื่อสารฯ และ สกศ.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย จะร่วมระดมกำลังจากทุกฝ่ายบูรณาการงานตามแนวทาง 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัยในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ในระยะยาวประเทศจะไม่สูญเสียพลเมืองคุณภาพจากพัฒนาการที่สูญเสียไปของเด็กปฐมวัยแต่อย่างใด
ขณะที่ ผศ.ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการ “สื่อเพื่อฟื้นฟูการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในวิถีชีวิตใหม่” ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อชีวิตคนทุกวัย เด็กปฐมวัยก็ได้รับผลจากการที่ผู้ใหญ่ยื่นสื่อหน้าจอให้อย่างไม่มีข้อจำกัด ในช่วงโควิด ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็กมาต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ และสำนักนโยบายปฐมวัย สภาการศึกษา พร้อมด้วยภาคีวิชาการกว่า 40 องค์กร ได้ช่วยกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” กองทุนสื่อฯ ร่วมกับภาคีจึงได้ขอนำข้อมูลวิชาการที่ได้ มาแปลงสาร ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ต่างๆ ให้เกิดเป็นสื่อหลากหลายรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อเผยแพร่ไปในช่องทางหลากหลาย ให้กระจายไปยังสาธารณชนอย่างกว้างขวาง
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี