ปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เข้ามามีบทบาทความสำคัญในการซื้อขายสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา ได้บัญญัติกฎหมายที่เข้มงวดเพิ่มเติมหลายฉบับเกี่ยวกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่าย เชื่อว่าในอนาคตอีกไม่นานจะมีอีกหลายประเทศนำกฎระเบียบดังกล่าวมาบังคับใช้เช่นกัน
“ยางพารา” พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าวด้วย
ประเทศไทย เป็นประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่อันดับ 1 ของโลก แต่ละปีส่งออกมากกว่า 4 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มาจากยางพารา ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ ถุงมือยาง เฟอร์นิเจอร์ไม้ยาง และอื่นๆ คิดเป็นมูลค่ามหาศาล ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการจัดการตั้งแต่กระบวนการปลูกสร้าง การจัดการสวนยาง และการแปรรูปยางตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อจะสามารถส่งไปขายในกลุ่มประเทศดังกล่าวได้
หากไม่เร่งดำเนินการ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราก็จะขายไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยาง และเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า อียู และสหรัฐอเมริกา ได้นำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน มาเป็นเงื่อนไขนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยได้บัญญัติเป็นกฎหมายว่า จะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ไม่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าหลังจากปี 2562 (ค.ศ. 2019) รวมทั้งมีการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน โดยจะต้องแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้
ดังนั้นเพื่อให้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยสามารถส่งไปขายในกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ กยท. เร่งขับเคลืื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม 2 เรื่องใหญ่ๆด้วยกัน
เรื่องแรกคือ การพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราของไทย ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี
“ กยท.จะเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางปรับปรุงพัฒนาสวนยางพาราให้ผ่านมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 1406 โดยในระยะแรกตั้งเป้าไว้ภายในปี 2571 สวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. อย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 10 ล้านไร่ จะต้องผ่านมาตรฐาน มอก. 14061” ผู้ว่าการ กยท.กล่าว
สำหรับมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061 นั้น จะครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนป่าไม้เศรษฐกิจในระยะยาว การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการป้องกันสวนป่าจากการทำผิดกฎหมายต่างๆ เช่น การลักลอบตัดต้นไม้ การเผาป่า การใช้ที่ดินอย่างผิดกฎหมาย ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และอำนวยประโยชน์แก่ชุมชนในพื้นที่อีกด้วย ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนสากล ไม่ว่าจะเป็น Forest Stewardship Council (FSC) หรือ Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC)
ดังนั้น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มาจากสวนยางที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าว จะสามารถส่งไปขายใน อียู และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศที่ทำเงื่อนไขการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นกฎระเบียบในการนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราได้อย่างแน่นอน และยังเป็นโอกาสทองเกษตรกรของที่จะสามารถขายยางได้ในราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป เบื้องต้นคาดว่าไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 3 บาท ที่สำคัญจะมีตลาดรับซื้อแน่นอน เพราะขณะนี้มีผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลายรายได้ติดต่อเจรจากับ กยท. และลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการจัดหายางที่ผ่านมาตรฐานสากลให้กับบริษัทผู้แปรรูปยางรายใหญ่แล้ว
นอกจากนี้การปรับปรุงพัฒนาการจัดการสวนยางให้ได้มาตรฐานสากล ยังจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตจะลดลงในระยะยาวอีกด้วย
ส่วนเรื่องที่ 2 ที่กยท.จะเร่งดำเนินการคือ "มาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต" หรือ "มาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)” เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดผลผลิตยางและผลิต ภัณฑ์จากยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และรวดเร็ว
ขณะนี้ กยท.มีความพร้อมในการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยจะนำเอา GIS (Geographic Information System) หรือระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นระบบการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์โดยจะแสดงในรูปของภาพแผนที่ มาใช้ในการแสดงแหล่งที่มาของผลผลิตว่า ยางพารามาจากแหล่งกำเนิดใด ควบคู่ไปกับระบบแอปพลิเคชั่น RUBBERWAY ที่ใช้ในการตรวจสอบการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
มาตรการดังกล่าว จะไม่ใช่บังคับแค่ อียูและสหรัฐอมริกาเท่านั้น ในอนาคตประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อยางรายใหญ่ของไทยก็จะต้องนำมาใช้บังคับในการซื้อยางด้วยอย่างแน่นอน เพราะจีนจะต้องส่งออกผลิต ภัณฑ์ที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ ไปยังตลาดอียู และสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการตรวจสอบย้อนกลับเช่นกัน
“มาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต และผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมทั้งการพัฒนาการจัดการสวนยางพาราของไทยให้ได้มาตรฐานสากล จะช่วยสร้างผลดี และประโยชน์อย่างมาก ทั้งต่อผู้ซื้อ ที่ทำให้รู้แหล่งกำเนิดว่า ยางพารามาจากสวนที่มีกระบวนการจัดการที่ได้มาตรฐานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น ในขณะที่ผู้ขาย ก็จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน มีศักยภาพเหนือคู่แข่ง เพราะประเทศคู่แข่งในการส่งออกยางพาราของไทย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา ยังไม่ดำเนินการใดๆในเรื่องดังกล่าว และยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอีกด้วย ในขณะที่ประเทศไทย มี กยท. รับผิดชอบโดยตรง และมีความพร้อมในการดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งจะโอกาสทองของยางพาราไทยในการขยายตลาด และยกระดับขึ้นสู่ตลาดยางพรีเมี่ยม ประเทศผู้นำเข้ายางจะต้องแห่มาซื้อยางจากประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ราคายางของไทยในอนาคตมีเสถียรภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน” นายณกรณ์กล่าวย้ำ
นอกจากนี้มาตรการส่งเสริมพัฒนาการจัดการสวนยางพาราให้ได้มาตรฐานสากล และมาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิตดังกล่าว ยังไปสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการ Zero Carbon ในภาคการเกษตรอีกด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ก๊าซเรือนกระจก มีความสำคัญต่อการรักษาระดับอุณหภูมิโลก หากมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปจะก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง น้ำท่วม แผ่นดินไหว ซึ่งก๊าซที่จะให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่รู้จักกันดีคือ คาร์บอน หรือ คาร์บอนใคออกไซด์ (C02) ดังนั้นการลคคาร์บอน จึงมีส่วนสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า สวนยางที่มีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐานสากล นอกจากจะเป็นสวนยางที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์(Zero Carbon ) แล้ว ยังจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้อีกด้วย ซึ่งการกักเก็บคาร์บอนของสวนยางดังกล่าว สามารถสร้างเป็น Carbon Credit นำมาซื้อ-ขาย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
Carbon Credit จะมีบทบาทสำคัญในการส่งออกสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะส่งออกไปตลาด อียู ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ อียูใด้เคาะมาตรการจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสิบค้านำเข้า(CBAM ) เพื่อเก็บภาษีเพิ่มสำหรับสินคำนำเข้าที่ ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต โดยการอนุญาตให้นำ Carbon Credit ที่ซื้อมาหักล้างกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกไป เพื่อทำให้โดยรวมแล้วระดับการปล่อยก็ซเรือนกระจกไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้
ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนยางก็จะสามารถขาย Carbon Credit ได้ เพราะสวนยางพารานั้นมีความคล้าย คลึงป่าไม้ที่เป็นแหล่งดูดชับคาร์บอนตามธรรมชาติด้วยกระบวนการสังคราะห์แสงที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่จะต้องเป็นสวนยางที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เท่านั้น
“กยท. มืนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาสวนยางให้ได้มาตรฐานอยู่แล้ว ดังนั้น การที่พัฒนาต่อ ยอดให้เป็นสวนยาง Zero Carbon ด้วยจึงไม่ยากเกินไป ที่สำคัญยังจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากช่วยลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมแล้วและยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งยังจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขาย Carbon Credit ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน อันจะไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าการ กยท.กล่าว
หากเกษตรกรสามารถพัฒนาการจัดการสวนยางพาราได้ให้มาตรฐานสากลแล้ว ไม่ว่าประเทศผู้นำเข้ายางจะนำมาตรการใดๆมาบังคับ จะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเลย ในทางตรงข้ามกลับจะเป็นมาตรกรที่ส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถขายยางได้ในราคาที่สูงขึ้น ยกระดับตลาดยางพาราของไทยเหนือคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี