รศ.ดร.วราฤทธิ์ พานิชกิจโกศลกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลและอาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)เปิดเผยว่า “ภาวะหนี้” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความอ่อนไหวต่อระบบเศรษฐกิจไทย และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สะท้อนปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะ “หนี้นอกระบบ” ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มนักเล่น “การพนัน” อาทิ ลอตเตอรี่ หวยใต้ดิน พนันฟุตบอล หรือพนัน รวมทั้งความเชื่อ
และพฤติกรรมร่วมของการเล่นการพนัน “ต้องเล่นอีกเพื่อถอนทุนคืน” และ “ยิ่งเล่นมาก กระจายเล่นหลายๆ กอง
ยิ่งมีโอกาสได้สูง”
จากที่คณะวิทย์ มธ. ทำวิจัยเรื่อง “ผลตอบแทนที่คาดจะได้รับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากเลขท้าย” พบว่า โอกาสถูกรางวัลแจ๊กพอต หรือเป็น “วินเนอร์” เกิดขึ้นน้อยมากเช่น ถูกเลขท้าย 2 ตัวต้องซื้อเลขเดิมต่อเนื่องอย่างน้อย100 งวด และรางวัล 1 มีโอกาสถูกเพียง 1 ในล้าน ส่วนผลตอบแทนเปรียบเทียบ “หวยบนดิน” และ “ลอตเตอรี่” พบว่าเฉลี่ยมีโอกาสขาดทุนอยู่ที่ 35-70% “ลอตเตอรี่” ขาดทุนที่ 40% เลขท้าย 2 ตัว ขาดทุน 35% และเล่น 3 ตัวโต๊ด ขาดทุนถึง 70% ขณะที่ผู้เล่นที่ใช้เทคนิคการซื้อกวาดซื้อกระจายเพื่อหวังเพิ่มโอกาสถูกรางวัลมากขึ้นนั้นเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงบางส่วน เพราะเมื่อพิจารณาจากจำนวนการเล่นกับเงินที่ต้องจ่ายก็มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อเทียบกับเงินรางวัลที่ได้จึงไม่ใช่วิธีการที่คุ้มค่า
“ส่วนสถานการณ์หนี้ของคนไทยที่เพิ่มขึ้นจากการพนันในทุกวันนี้มาจากเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่าย ซื้อง่ายเล่นง่าย ดึงดูดใจ เช่น เว็บพนันบางแห่งมีเงินให้กู้ยืมโดยใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว และในจำนวนนี้เชื่อมโยงกับปัญหา “หนี้นอกระบบ” ซึ่งยิ่งทำให้วงจรการเป็นหนี้ขยายวงกว้างและยาวนานออกไปยิ่งขึ้นอีกทั้งสถานการณ์ที่เปราะบางของกลุ่ม“เยาวชน’” ที่อาจเข้ามาสู่วงจรการพนันและการเป็นหนี้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากนำเสนอข้อเท็จจริงเรื่องการถูกรางวัลหรือการเป็นผู้ชนะในเกมพนันที่มีน้อยนิดอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้คนไทยตระหนักในเรื่องนี้ได้ ในส่วนของคณะวิทย์ มธ. ขอเสนอแนะว่า ควรลดความถี่ในการโปรโมทการเข้าถึงการพนันทุกรูปแบบ แม้ว่าเป็นการพนันถูกกฎหมาย การพนันเป็นกระแสความนิยมในสังคมไทยอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องโปรโมทเพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างภาพจำว่าการพนันหรือการวัดดวงเป็นเรื่องปกติของสังคมโดยเฉพาะการนำเสนอข่าวบุคคลถูกรางวัลใหญ่ของแต่ละงวด” รศ.ดร.วราฤทธิ์ กล่าว
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ศึกษาสถานการณ์และผลกระทบการพนันในไทย ปี 2564 พบว่า คนไทยเล่นการพนันร้อยละ 59.6 หรือประมาณ 32.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 1.9 ล้านคน จากปี 2562 เป็นผู้ที่เล่นพนันครั้งแรกในช่วง 12 เดือน ที่ผ่านมาหรือ “นักพนันหน้าใหม่” เกือบ 8 แสนคน ที่น่ากังวลคือ ร้อยละ 29.5 ของประชากรเด็ก อายุ 15-18 ปีมีวงเงินหมุนเวียนรวม 29,155 ล้านบาท และร้อยละ 54.6 ของเยาวชน อายุ 19-25 ปี ที่เล่นการพนัน มีวงเงินหมุนเวียนรวม 93,321 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มเล่นเพิ่มขึ้น และวงเงินพนันหมุนเวียนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยการพนันที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” และ “หวยใต้ดิน”
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 พบว่า คนไทยเป็นหนี้สูงถึง 37% หรือราว 25 ล้านคน โดยประมาณ 57% เป็นหนี้ 100,000 บาทขึ้นไป กลุ่มผู้ที่มีหนี้1,000,000 บาทขึ้นไป มีถึง 14% โดยสูงสุด 3 อันดับแรกคือ สินเชื่อส่วนบุคคล 39% บัตรเครดิต 29% และการเกษตร 12% หนี้ครัวเรือนไทย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2564 ที่โควิด-19 ระบาด หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงถึง 90.1% ก่อนปรับลดลงมาในไตรมาส 3 ปี 2565 ที่ระดับ 86.8% โดยพบว่า 42% ของกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,600 ครัวเรือน จากทุกภูมิภาคของไทย มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยรายหัวอยู่ที่คนละ 54,300 บาท ซึ่ง “การพนัน” เป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของการเป็นหนี้นอกระบบดังกล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี