ไทยร้อนพุ่ง54องศา
3พื้นที่‘บางนา-ชลบุรี-ภูเก็ต’
ระดับอันตรายเสี่ยงฮีทสโตรก
ทั่วไทยร้อนจัดยาวถึง23เม.ย.
61จว.ฝุ่นPM2.5เกินมาตรฐาน
‘เชียงราย’ยังแชมป์ฝุ่น-ไฟป่า
อุตุฯเตือนอันตรายค่าความร้อนไทย พุ่ง 54 องศาฯ โดยเฉพาะ “บางนา–ชลบุรี-ภูเก็ต”ชี้อยู่ในระดับอันตรายถึงอันตรายมาก เสี่ยงเกิดลมแดดหรือฮีทสโตรก เป็นค่าความร้อนสูงสุดในหน้าร้อนนี้ ก่อนเข้าหน้าฝนกลางพฤษภาคม อธิบดีอุตุฯชี้ไทยร้อนถึงร้อนจัดยาวถึง 23 เมษายน สลับมีฝนฟ้าคะนองก่อนมี “พายุฤดูร้อน” 24-27 เมษายนจุดความร้อนไทยทรงตัวที่ 876 จุด พบ 61 จว. ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน “เชียงราย” แชมป์ทั้งจุดความร้อน-ฝุ่นพิษ PM 2.5
เมื่อวันที่ 21 เมษายน นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า สภาพอากาศของประเทศไทยขณะนี้ต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากดัชนีความร้อน (Heat Index) ที่จะสูงในระดับอันตรายถึงอันตรายมาก 3 พื้นที่ โดยสูงถึง 54 องศาเซลเซียส แม้อุณหภูมิคาดการณ์และอุณหภูมิที่ตรวจวัดได้ระยะนี้ ไม่สูงเท่าช่วงก่อนสงกรานต์ แต่เนื่องจากมีลมใต้และตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้าปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก รวมกรุงเทพมหานคร (กทม.)และปริมณฑล ส่วนด้านตะวันตกของประเทศและภาคใต้มีลมตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ส่งผลให้ความชื้นเพิ่มขึ้น โดยในพื้นที่ที่ทั้งอุณหภูมิและความชื้นสูง จะทำให้เรารู้สึกร้อนมากขึ้น
3พื้นที่ร้อนพุ่งปรี๊ด54องศาฯ
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวต่อว่า ผลคาดการณ์จากแบบจำลองสภาพอากาศ พบดัชนีความร้อนสูงสุดวันที่ 21 เมษายน ตามรายภาคมี ดังนี้ ภาคเหนือ ที่จ.เพชรบูรณ์ ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 48.1 องศาเซลเซียส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 44.5 องศาเซลเซียส ส่วนกทม.ที่เขตบางนา ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 54.0 องศาเซลเซียส ภาคตะวันออก ที่ อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 54.0 องศาเซลเซียส ภาคใต้ ที่จ.ภูเก็ต ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 54.0 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า บริเวณที่ดัชนีความร้อนสูงถึง 54 องศาเซลเซียส 3 พื้นที่ทั้งเขตบางนา กทม. แหลมฉบัง จ.ชลบุรี และจ.ภูเก็ตอยู่ใกล้ทะเลทำให้ความชื้นสูง
สธ.เตือนระวังเสี่ยง‘ฮีทสโตรก’
น.ส.ชมภารีกล่าวอีกว่า ดัชนีความร้อนที่คาดการณ์ไว้ เป็นการคาดการณ์เฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่ผลคาดการณ์ทั่วประเทศ แต่จำเป็นต้องเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน โดยกรมอนามัยให้ข้อมูลระดับผลกระทบจาก “ดัชนีความร้อน” ดังนี้
1.ดัชนีความร้อน 27–32 องศาเซลเซียส จะอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน เฝ้าระวัง ออกกำลังกายหรือใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน 2. ดัชนีความร้อน 32–41 องศาเซลเซียส จะเกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heat Exhaustion) 3.ดัชนีความร้อน 41–54 องศาเซลเซียส จะมีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดอันตรายจากภาวะลมแดด (Heat Stroke) ถ้าสัมผัสความร้อนนาน และ 4.ดัชนีความร้อนมากกว่า 54 องศาเซลเซียส เป็นระดับอันตรายมาก จะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) คาดว่า “ดัชนีความร้อน” ที่สูงระยะนี้ เป็นค่าคาดการณ์ที่สูงสุดแล้ว เพราะเป็นปลายฤดูร้อนและจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม
ร้อนจัดถึง23เมย.สลับฝนฟ้าคะนอง
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยายังเปิดเผยอีกว่า สภาพอากาศตั้งแต่วันที่ 21- 23 เมษายน จะร้อนและร้อนจัดต่อเนื่องบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ เนื่องจากมีลมใต้และตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้าปกคลุม ขณะที่ด้านตะวันตกของประเทศและภาคใต้มีลมตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมดังกล่าว จากนั้น ช่วงวันที่ 24-27 เมษายน อากาศจะแปรปรวนอีกครั้ง เนื่องจากลมพัดเปลี่ยนทิศทางเป็นลมฝ่ายใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน เริ่มทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบระยะต่อไป
พายุลูกแรกของปีโผล่ไม่กระทบไทย
ทั้งนี้ ตรวจพบการก่อตัวของพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกชื่อ“ช้านหวู่ (SANVU)”เป็นพายุลูกแรกของปี 2566 ตามการนับจำนวนพายุของศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค (Regional Specialized Meteorological Center, RSMC) พายุโซนร้อน“ช้านหวู่ (SANVU)”หมายถึงปะการัง ตั้งชื่อโดย เขตบริหารพิเศษ “ช้านหวู่ (SANVU)”มาเก๊า อย่างไรก็ตาม พายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยเนื่องจากอยู่ไกลมา
อาทิตย์ตั้งฉากกทม.27เม.ย.อาจไม่ร้อน
ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายวิชาการ เปิดเผยเพิ่มเติมถึงกรณีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่าวันที่ 27 เมษายน เวลา 12.16 น. ดวงอาทิตย์จะตั้งตรงศีรษะหรือตั้งฉากกับกรุงเทพมหานคร (ครั้งที่ 1)ว่า จากข้อมูลดังกล่าว กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายลักษณะอากาศวันดังกล่าว เนื่องจาก กทม.และปริมณฑล มีเมฆมากกับมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุดประมาณ33-36 องศา ฯยังไม่ทำลายสถิติสูงสุดที่วัดได้ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุด 40.8 องศาเซลเซียส ในวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับกทม. อาจเป็นวันที่มีอุณหภูมิสูงสุดเกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ท้องฟ้าโปร่งและไม่มีลม
เตือน‘พายุฤดูร้อน’24-25เม.ย.
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังใกล้ชิดในช่วงนี้คือ วันที่ 24-25 เมษายน ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
ฮอตสปอตไทย876จุด-เชียงรายยังอ่วม
สำหรับสถานการณ์ฝุ่นควัน-จุดความร้อนของไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี ที่ตรวจจับจุดความร้อนวันที่ 20 เมษายนพบว่า ไทยพบจุดความร้อน 876 จุด ขณะที่ลาวตรวจวัดได้ 4,581 จุด เมียนมา 4,389 จุด เวียดนาม 765 จุด กัมพูชา 200 จุด และมาเลเซีย 18 จุด
โดยจุดความร้อนในไทยนั้น ยังพบในป่าสงวนแห่งชาติมากที่สุด 262 จุด พื้นป่าอนุรักษ์ 246 จุด ตามด้วยพื้นที่เกษตร 230 จุด พื้นที่เขต สปก. 69 จุด พื้นที่ชุมชนอื่น 61 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 8 จุด
ส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ จ.เชียงราย 130 จุด เชียงใหม่ 60 จุด และ น่าน 58 จุด สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้จุดความร้อนลดลงทางภาคเหนือ คาดว่าเกิดจากช่วงวันที่ 19 – 24 เมษายนจะมีฝนตกในภาคเหนือร้อยละ 10-20 ของพื้นที่
61จว.ค่าฝุ่นแดงเถือก-เชียงรายแชมป์
ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชันเช็คฝุ่นประจำวันนี้ ยังคงเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับสีส้มไปถึงสีแดงหลายพื้นที่ โดยกระจายกันไปยังพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง รวมแล้ว 61 จังหวัด โดยเฉพาะที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่า PM 2.5 สูงถึง 140 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) นอกจากนี้ ยังมีอีก 7 จังหวัดทางเหนืออยู่ระดับสีแดงเช่นกัน ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ และน่าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่กรุงเทพฯคุณภาพอากาศภาพรวมอยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเขตบางบอนมีค่าฝุ่นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 97 มคก. บางขุนเทียน 96 มคก.
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 21 เมษายน สรุปภาพรวมปริมาณ PM 2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน กรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ราชบุรี จ.ปราจีนบุรี จ.ระยอง จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.หนองบัวลำภู จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ชัยภูมิ และ จ.อุบลราชธานี
ภาคเหนือเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ วัดได้ 54-127 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่วัดได้ 40-80 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 36-69 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 35-54 มคก./ลบ.ม. ภาคใต้ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีวัดได้ 13-31 มคก./ลบ.ม. กทม.และปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)เกินค่ามาตรฐาน 34 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 41-66 มคก./ลบ.ม.
เร่งสกัดไฟป่าเขาตะแบกลามใกล้เขาใหญ่
ความคืบหน้าเหตุไฟป่าที่ปะทุขึ้นอีกครั้งบนเขาตะแบก จ.นครนายก บริเวณฝั่งซ้ายของสนามยิงปืนโรงเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ซึ่งจุดนี้เคยเกิดไฟป่ามาแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม แล้วปะทุขึ้นมาอีกเมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 เมษายน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และสถานีดับไฟป่าในพื้นที่จ.นครนายก ร่วมกับทหารดับไฟป่าในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้รับรายงานจากนายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่า ไฟอยู่ห่างจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น จึงเร่งทำแนวกันไฟป้องกันการลุกลาม สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลก พร้อมกันนี้ กรมป่าไม้เสริมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดเหยี่ยวไฟ เข้าร่วมดับไฟ กองทัพบกส่งเฮลิคอปเตอร์มาสนับสนุนปฏิบัติการช่วงบ่าย
ด้านนายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่าไหม้เขาตะแบก บริเวณค่ายฝึกอินวะษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จุดเกิดเหตุเป็นเนินเขาลาดชันประมาณ 45 องศา มีป่าไผ่และหญ้าแห้งเป็นเชื้อไฟ ทำให้ไฟลุกลามรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ขยายเขตแนวกันไฟเพิ่มเติม และช่วงบ่ายนี้เจ้าหน้าที่สถานีดับไฟป่าและเหยี่ยวไฟ 25 คน ทหาร 15 คนรวม 40 คน เดินเท้าเข้าพื้นที่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี