หมายจับ‘แอม’11คดี
ฆ่าโดยไตร่ตรอง-พยายามฆ่า-ลักทรัพย์
ตำรวจยันสังหารเอง14ศพ
อาศัยเหยื่อไว้เนื้อเชื่อใจ
ยังไม่พบรองผกก.เอี่ยว
เพื่อนพยาบาลให้ปากคำ
ตร.กองปราบฯ ระบุยอดเหยื่อ “แอม ไซยาไนด์” 14 ศพ รับเรื่องไว้ตรวจสอบอีก 11 ราย รอขออำนาจศาลออกหมายจับเพิ่ม ส่วนรองผกก.อดีตสามีแอม ยังไม่พบความเกี่ยวพันชี้ก่อเหตุทำคนเดียวได้เพราะอาศัยความสนิทและเชื่อใจของเหยื่อด้านนิติวิทยาศาสตร์ เผยแนวทางชันสูตรศพเสียชีวิตผิดธรรมชาติ
เมื่อวันที่ 30เมษายนผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีนางทองพิน เกียรติชนะสิริ อายุ 63 ปี น.ส.นิภาวรรณ ขันวงษ์ อายุ 35 ปี มารดาและพี่สาวของ น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือก้อย อายุ 32 ปี เท้าแชร์ ที่เสียชีวิตปริศนาระหว่างทำบุญปล่อยปลากับนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือแอมอายุ 36 ปี อดีตภรรยานายตำรวจระดับ รอง ผกก.ในพื้นที่ จ.ราชบุรี เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นการฆาตกรรม ซึ่งแอม น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน จนเป็นที่มาของการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่สำคัญคือพบการใช้สารไซยาไนด์ ในการก่อเหตุ โดยขออำนาจศาลออกหมายจับและติดตามจับกุมตัวแอม ไว้ได้ กระทั่งพบความเกี่ยวพันกับการเสียชีวิตของบุคคลแวดล้อมแอม อีกกว่า 13 ราย ว่าทาง พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป.กล่าวว่า ในขณะนี้ยืนยันยอดผู้เสียชีวิตว่ามีทั้งหมด 14 ศพ โดยมีผู้ที่รอดชีวิต 1 ราย แต่ยังอยู่ระหว่างรอพิสูจน์การเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตรายอื่นเพิ่มเติมว่ามีความเกี่ยวข้องกับแอม ด้วยหรือไม่
พ.ต.อ.เอนก กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางตำรวจได้ขออำนาจศาลออกหมายจับแอม ไว้ทั้งหมด 3 หมาย เป็นคดีของ น.ส.ก้อย ,คดีการเสียชีวิตของ พ.ต.ต.หญิงนิภา แสนจันทร์ หรือสารวัตรปู สว.ฝ.6 บก.อก.บช.ก.และคดีนางรจรินทร์ นิลห้อย หรือเจ๊น้อยขายผักแม่ค้าตลาดมหาชัย จ.สมุทรสาคร นอกจากนี้ได้รับเรื่องร้องทุกข์ไว้ 11 คดี ซึ่งเป็นคดีในพื้นที่ กทม.ที่มารดาของเหยื่ออยู่ จ.กำแพงเพชร โดยรอรวบรวมข้อมูลเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับเพิ่มเติม
รอง ผบก.ป.กล่าวอีกว่า วันเดียวกันนี้ ได้เรียกสอบปากคำพยานที่เคยได้พูดคุยกับแอม รวมถึงตัวนายกอลฟ์ และญาติของ น.ส.ก้อย ที่เสียชีวิตเพื่อให้ข้อมูลเส้นทางการเงิน อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีบุคคลอื่นร่วมกระทำความผิด รวมทั้ง รอง ผกก.อดีตสามีของแอม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เรียกสอบปากคำไปแล้ว โดยเจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นถึงการกระทำผิดของแอม เพียงแต่อยู่กินด้วยกันเท่านั้น แต่หากพบหลักฐานเพิ่มเติม ก็จะพิจารณาเรียกมาสอบปากคำอีกครั้ง
พ.ต.อ.เอนก กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าแอมอาจจะไม่ได้ลงมือก่อเหตุเพียงคนเดียวว่าจากแผนประทุษกรรมของผู้ต้องหา พบว่าเจ้าตัวอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจของเหยื่อ ก่อนจะลวงไปทำบุญ ทานข้าวดื่มกาแฟ ซึ่งแม้ว่าคดีนี้จะมีผู้เสียหายจำนวนมาก แต่ไม่จำเป็นจะต้องมีผู้ร่วมกระทำผิดหลายราย ส่วนเรื่องคดีความได้กระจายให้ตำรวจแต่ละท้องที่ดำเนินการ สำหรับคดี น.ส.ก้อย นั้น ยังไม่กำหนดเวลาว่าจะสรุปสำนวนคดีส่งฟ้องได้เมื่อใด เพราะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้รัดกุมรอบคอบ เนื่องจากเป็นคดีที่กระทบต่อความรู้สึกและประชาชนให้ความสนใจ ยืนยันว่าตำรวจทำงานกันอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งคดีมีความคืบหน้าไปแล้ว 80% ส่วนประเด็นลูกในท้องของผู้ต้องหาเป็นลูกของใครจะต้องตรวจพิสูจน์หรือไม่นั้น ตนมองว่ายังไม่ใช่สาระสำคัญทางคดี
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ รอง ผบก.ป.เปิดเผยว่า ตำรวจได้ขออำนาจศาลออกหมายจับแอม ไว้ใน 3 ข้อหา คือฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , พยายามฆ่า และลักทรัพย์ แต่หมายจับมีทั้งหมด 11 หมายจับ ประกอบด้วย
คดีของ น.ส.ก้อย แบ่งออกเป็น 2 หมายจับ คือที่ บก.ป.ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และ สภ.บ้านโปร่ง แจ้งข้อหาลักทรัพย์, คดีของ น.ส.ดาริณี หรือฟ้า สภ.สามพรานแจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, คดีของนายสุรัตน์ หรือบี สภ.ลูกแกแจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , คดีของ น.ส.กณิกา หรือเอ๊ะ สภ.โพธาราม แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , คดีของนางรสจรินทร์หรือเจ๊น้อยขายผัก สภ.เมืองสมุทรสาคร แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
คดีของ พ.ต.ต.หญิงนิภา หรือสารวัตรปู สภ.เมืองนครปฐม แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน,คดีของนางมณีรัตน์ หรือต่ายสภ.เมืองนครปฐม แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, คดีของ ร.ต.อ.หญิงกานดา หรือผู้กองนุ้ย สภ.เมืองนครปฐม แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , คดีของ น.ส.ผุสดี หรือครูอ๊อดสภ.ตอนตูม แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและคดีของนางกานติมา หรือปลา ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตสภ.เมืองกาญจนบุรี แจ้งข้อหาพยายามฆ่า
ขณะเดียวกัน น.ส.นก พยาบาลโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่ฝั่งธนบุรี กทม.ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของแอม ได้เดินทางเข้าให้ปากคำต่อพ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ รอง ผบก.ป.ในประเด็นข้อสงสัยต่างๆที่แอมได้เคยไปขอคำปรึกษาเกี่ยวกับอาการป่วยของตัวเอง และอาการป่วยของผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งนี้ น.ส.นก ขอไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่มาเฝ้ารอทำข่าวเป็นจำนวนมาก โดยให้เหตุผลว่าเกรงจะไม่ได้รับความปลอดภัย
อีกด้านหนึ่ง นพ.ศราวุฒิ สุจริตธรรม โฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) กล่าวถึงแนวทางและมาตรฐานการชันสูตรศพของ สนว.ภายหลังเกิดคดี “แอม ไซยาไนด์” ว่าการชันสูตรพลิกศพจะเริ่มตั้งแต่การตรวจสถานที่เกิดเหตุโดยแพทย์และพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 150 ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนท้องที่ซึ่งศพนั้นอยู่ และแพทย์นิติเวช มีวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว โดยตาม ป.วิอาญา มาตรา 148 กำหนดให้มีการชันสูตรพลิกศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติ อันได้แก่ 1.ฆ่าตัวตาย 2.ถูกผู้อื่นทำให้ตาย 3.ถูกสัตว์ทำร้ายตาย 4.ตายโดยอุบัติเหตุ 5.ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ และตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน
นพ.ศราวุฒิ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการปฏิบัติงานดังกล่าวมีการจัดทำมาตรฐานการชันสูตรศพ และได้รับการประกันคุณภาพจากราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย โดยการตรวจศพกระทำโดยแพทย์นิติเวชที่เป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติงานของราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย ที่กำกับโดยคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานทางนิติเวชศาสตร์ มุ่งเน้นการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ที่กำหนดให้แพทย์ต้องแจ้งพนักงานสอบสวนให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปชันสูตรเพิ่มเติมในกรณีดังต่อไปนี้1.ไม่สามารถระบุว่าผู้ตายเป็นใคร และการผ่าศพอาจช่วยในการระบุ2.ศพที่เป็นโครงกระดูก หรือศพที่ไหม้เกรียม3.การตายที่เกิดจากหรืออาจเกิดจากถูกผู้อื่นทำให้ตาย
4.การตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่5.การตายผิดธรรมชาติ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่6.การตายในเด็กที่ไม่คาดคิดและไม่สามารถอธิบายได้7.การตายที่เกิดจากสารพิษ8.การตายที่เกี่ยวข้องกับการจราจร9.การตายที่เกิดจากการบาดเจ็บจากการทำงาน ไฟฟ้าดูด การจมน้ำโดยไม่มีผู้พบเห็น10.ไม่สามารถระบุ หรือสันนิษฐานสาเหตุการตายได้และ 11.มีผู้ใดผู้หนึ่ง สงสัยในสาเหตุการตายหรือพฤติการณ์การตาย หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับการได้รับผลประโยชน์ของผู้ตาย
“กรณีที่ผู้เสียชีวิตได้รับการชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ และเข้าข่ายในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ศพจะได้รับการเคลื่อนย้ายมายังห้องผ่าชันสูตรศพ โดยมีการผ่าศพตรวจโดยละเอียด รวมถึงการส่งตรวจชีววัตถุต่างๆ เช่น เลือด น้ำวุ้นลูกตา อาหารในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะ เพื่อหาสารหรือยาที่อาจจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต เป็นไปตามมาตรฐานการชันสูตรศพ ซึ่งได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2559 มาตรา 5(4) เปิดกว้างให้ญาติผู้เสียชีวิตที่ติดใจสาเหตุการตาย สามารถติดต่อขอรับการตรวจชันสูตรซ้ำได้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส อำนวยความยุติธรรม และเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่มุ่งเน้นถึงกระบวนการที่ทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคม” นพ.ศราวุฒิ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี