ขึ้นฝั่ง‘เมียนมา’ฟาดหางถึงไทย
พายุไซโคลน‘โมคา’
กระทบไทยตอนบนฝนตกหนัก
อุตุฯเตือนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
กรมอุตุฯ เตือน พายุไซโคลน “โมคา”ขึ้นฝั่งเมียนมา กระทบถึงไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนภาคใต้คลื่นสูง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศฉบับที่ 6 เรื่อง พายุไซโคลน “โมคา” (มีผลกระทบถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2566)ระบุ เมื่อเวลา 04.00 น.ของวันนี้ (13 พ.ค.66) พายุไซโคลน “โมคา” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 88.7 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 204 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเมียนมาในช่วงวันที่ 14-15 พ.ค.66 ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 13-15 พ.ค.66 ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออก จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 13-15 พ.ค.66 ทำให้บริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 16 พ.ค.66
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อน ประเทศไทยมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ ที่สะสมอยู่ในอาหารเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อาหารบูดเสียง่าย โดยเฉพาะเมนูที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ และอาหารประเภทยำ รวมทั้งอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยงต่อการบูดเสียมากที่สุด แนะปรุงอาหารเสร็จ ถ้ายังไม่กินทันที ควรใส่ในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด รอให้หายร้อนและนำแช่ตู้เย็นทันที และควรนำมาอุ่นให้เดือดก่อนนำมากิน ส่วนอาหารที่ไม่สามารถอุ่นได้ เช่น ยำ พล่า ควรทำในปริมาณพอดี ไม่ควรทำทิ้งไว้นานๆ เพราะอาจบูดเสียได้ง่าย เสี่ยงโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ
ทั้งนี้ ประชาชนควรสังเกตและระมัดระวังเมนูที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ และเมนูที่ไม่ผ่านการทำให้สุกด้วยความร้อน หรือปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะเป็นอาหารที่เสี่ยงต่อการบูดเสียและเชื้อโรคเจริญขยายจำนวนได้ง่ายที่สุด ประชาชนควรสังเกตอาหารก่อนกิน หากพบมีฟองอากาศ กลิ่นเหม็นบูด รสชาติเปรี้ยวผิดปกติ ก็ไม่ควรกิน นอกจากนี้ การกินอาหารทุกครั้ง ควรยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบ น้ำตก ก้อย รวมถึงกุ้งเต้น พล่ากุ้ง พล่าปลา ยำหอยแครง อาหารทะเลปิ้งย่างต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนน้ำดื่มควรต้มสุกหรือเลือกน้ำดื่มที่บรรจุขวด ที่ได้มาตรฐานน้ำบริโภค หรือมี อย. น้ำแข็งต้องเป็นน้ำแข็งที่ผลิตเพื่อการบริโภคและได้มาตรฐานรับรอง GMP และ อย. เท่านั้น เลือกจากสถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ปฏิบัติตามสุขลักษณะได้มาตรฐาน ซึ่งน้ำแข็งจะไม่มีการนำสิ่งอื่นไปแช่รวม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี