กรมวิชาการเกษตร โชว์กาแฟดีเมืองตาก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรต้นแบบกว่าแสนบาท/ไร่ เสริมองค์ความรู้เกษตรกรถ่ายทอดเทคโนโลยี ในโครงการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาการผลิตกาแฟพรีเมี่ยม และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพัฒนาการผลิตกาแฟคุณภาพของจังหวัดตาก เพื่อยกระดับการผลิตกาแฟจังหวัดตากสู่มาตรฐานการผลิต (Premium Grade) ให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดตาก
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จังหวัดตากเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพดี โดยสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2517 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านมูเซอส้มป่อย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่เขตติดต่อกับสถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอและทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “บริเวณนี้น่าจะปลูกได้เหมาะสมดี ขอให้ช่วยกันแนะนำชาวเขาให้มีการปลูกกาแฟที่ถูกต้องและมีการจัดการที่ดี เพราะรู้สึกว่าชาวเขาที่จะปลูกอยู่ไม่เป็นระเบียบ และพันธุ์กาแฟที่จะส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกควรเป็นพันธุ์กาแฟที่แตกต่างจากภาคใต้”
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก กรมวิชาการเกษตร ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิกาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตาก 500 ราย ได้แก่ กระบวนการผลิตในแปลงและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ การเขตกรรมแปลงกาแฟพรีเมี่ยม ดัชนีการเก็บเกี่ยว การหมักกาแฟ การเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ การคัดเกรดเมล็ดกาแฟ การคั่วกาแฟ และการตรวจสอบคุณภาพกาแฟ ในโครงการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาการผลิตกาแฟพรีเมี่ยมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และได้จัดทำแปลงต้นแบบการป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟด้วยวิธีผสมผสาน 3 แปลง เช่น การจัดการแปลงปลูกด้วยการตัดแต่งต้นกาแฟอาราบิกาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต การพ่นเชื้อบิวเวอร์เรีย B18 และการทำกับดักล่อมอดกาแฟ รวมทั้งในปี 2565 ได้มีจัดงานกาแฟดีเมืองตากด้วย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก ได้ดำเนินงานในโครงการพระราชดำริต่างๆ อาทิ โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านมะโอโคะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟอาราบิกา และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตกาแฟและการแปรรูปอย่างง่ายเพื่อบริโภคในชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตกาแฟคุณภาพได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นในผลผลิต เกษตรกรสามารถใช้ประกอบเป็นอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
กาแฟดีจังหวัดตาก เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ด้วยมีพื้นที่ปลูกกาแฟที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล มากกว่า 800 เมตร มีความชุ่มชื้นในดิน และมีแร่ธาตุสมบูรณ์เหมาะสมกับการปลูกกาแฟอาราบิกา ทำให้รสชาติกาแฟที่ปลูกในแหล่งปลูกนี้ได้รับการยอมรับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งกลิ่นหอมและรสชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติที่ดีของเกษตรกรต้นแบบตามหลักวิชาการเกษตร สามารถสร้างแบรนด์สินค้าของตนเอง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตกาแฟ ส่งผลทำให้มีรายได้ต่อครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น
“ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตากมีการรวมกลุ่มภายใต้การกำหนดกติกาที่เข้มงวด เพื่อมุ่งเน้นให้ชุมชนอยู่ร่วมกับผืนป่าได้อย่างสงบสุข มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และกระบวนการผลิตที่เน้นคุณภาพจากคนต้นน้ำ เพื่อให้คนปลายน้ำได้มีส่วนร่วมในการรักษาผืนป่า และได้ดื่มกาแฟคุณภาพระดับกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตกาแฟคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรแปลงต้นแบบมีผลผลิตกาแฟ (สารกาแฟ) สูงถึง 400-450 กิโลกรัม/ไร่ หรือ 400 ต้น/ไร่ ราคาจำหน่ายผลผลิตกาแฟ 280 บาท/กิโลกรัม จากวิธีการปลูกของเกษตรกรแบบเดิมที่จะได้ผลผลิตกาแฟ 200 กิโลกรัม/ไร่ เดิมราคาจำหน่ายผลผลิตกาแฟ 180-200 บาท/กิโลกรัม รวมทั้งการทำลายของมอดกาแฟซึ่งเป็นศัตรูพืชที่สำคัญของกาแฟยังลดลงมากกว่า 50%” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี