ที่บริเวณริมไบค์เลน (Bicycle lane) เส้นทางสำหรับรถจักรยาน เลียบแม่น้ำโขงมุมสามแยกระหว่างถนนสุนทรวิจิตร กับถนนดิษฐ์วงศ์วิถี ชุมชนหนองแสง 1 หรือหนองแสงท่าใกล้กับโบสถ์นักบุญอันนา และ โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ (สันตยานันท์)
เขตเทศบาลเมืองนครพนม ชาวชุมชนที่ประกอบอาชีพหาปลาในแม่น้ำโขง นำปลาสดๆ ที่ได้จากการวางมอง (วางข่าย) ภาษาถิ่นเรียกไหลมอง คือ การปล่อยหรือทิ้งมองลงในแม่น้ำ มาวางขายริมขอบทางไบค์เลนในช่วงเช้าตรู่เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะในห้วงเดือนพฤษภาคมเริ่มมีฝนตก น้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มระดับ หลังที่แห้งลงไปเมื่อช่วงหน้าแล้ง เมื่อระดับน้ำเพิ่มขึ้นปลาในแม่น้ำโขงมากกว่า 100 ชนิดก็ว่ายทวนน้ำมาเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ ซึ่งในระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ถือเป็นโอกาสทองของชาวประมงท้องถิ่น สามารถจับปลาได้มากกว่าปกติ โดยหลังมีฝนตกลงมาใหม่ๆ จะมีปลาในวงศ์ปลาตะเพียน คือ ปลาปาก (ตะเพียน) ปลาโจก ปลาอีตู๋และ ปลาค้าว ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อนถือเป็นทัพหน้าที่ว่ายทวนน้ำเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ จึงถูกมองของชาวประมงมากกว่าปลาชนิดอื่น
จากการสอบถามนายศรีวิไล เนานงค์ อายุ 51 ปี เปิดเผยว่าเรียนรู้การจับปลาจากพ่อตั้งแต่เล็ก และยึดอาชีพหาปลาเลี้ยงครอบครัวมาถึงทุกวันนี้ ยอมรับว่าปลาเริ่มหายากขึ้น หลังระดับน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ยกตัวอย่าง เช่น หอยทรายที่หาได้ตามแม่น้ำโขงช่วงฝนตกลงมาใหม่ๆ ตรงที่มีน้ำไหลไม่แรง เริ่มหายากขึ้นไปทุกปี หรือแมลงชีปะขาวช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จะออกมาเล่นไฟส่องสว่างริมแม่น้ำโขงนับล้านๆ ตัว ก่อนจะร่วงมาตายเต็มพื้นถนนสุนทรวิจิตร ซึ่งจะมีเกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง พากันเก็บกวาดใส่กระสอบปุ๋ย เพื่อนำไปแปรรูปเป็นหัวอาหารปลา ประหยัดค่าใช้จ่ายไปอีกหลายเดือน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าแมลงชีปะขาวไม่บินมาเล่นไฟนานหลายปีแล้ว อาจเกิดจากระบบนิเวศเปลี่ยนไป
นายศรีวิไลเล่าต่อว่า ปลาที่ไหลมองได้วันนี้ส่วนใหญ่เป็นปลาปาก(ตะเพียน) ถ้าเป็นตัวเล็กก็นำมาแล่ เพื่อขายแก่ผู้บริโภคนำไปทำปลาตากแห้ง หรือนึ่งกินกับน้ำพริก ในราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท ถ้าเป็นช่วงปลาหายากราคาจะอยู่ที่ 80-100 บาท ส่วนไส้ปลาไม่ได้ขายแต่จะมีคนที่เลี้ยงปลาในกระชังมาเอาไปเป็นอาหารปลาอีกทอดหนึ่ง
ขณะที่นางคำ จันทร์ทา อายุ 49 ปี แม่ค้าปลาใกล้ๆกัน เปิดเผยว่าสามีเป็นคนออกเรือไปหาปลา แล้วนำมาให้ตนวางขายริมทางจักรยาน ปลาที่ได้เป็นตัวใหญ่ มีปลาปากขาย 80 บาท/กิโลกรัม ปลาโจก 250 บาท/กิโลกรัม และปลาค้าว 250 บาท/กิโลกรัม ซึ่งมีลูกค้าประจำสั่งไปขึ้นโต๊ะอาหาร ปรุงเป็นเมนูปลาแม่น้ำโขง ให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองเนื้อปลาสดๆ กัน ในบริเวณเดียวกัน นอกจากมีปลาแม่น้ำโขงสดๆ แล้ว ยังมีผักปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ วางจำหน่ายอีกด้วย โดยชาวชุมชนหนองแสงใช้พื้นที่ริมแม่น้ำโขงเป็นแปลงผัก ทราบจากคำบอกเล่าของนางอารีย์จิตรสนมศรี อายุ 51 ปี ว่า แปลงผักก็อยู่ด้านหลังแผงตัวเอง ชาวบ้านจะปลูกพืชผักสวนครัวตลอดทั้งปี เพราะระดับน้ำท่วมไม่ถึง ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง เพียงปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์เท่านั้น ถึงเวลาเก็บผลผลิตก็นำขึ้นมาขาย อย่างเช่น ผักบุ้งไทย ผักกาดฮิ้นที่กินกับลาบ ก้อย ผักคะน้า ก็ขายมัดละ 10 บาทเท่านั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าจะมีลูกค้า ขับรถยนต์ จักรยานยนต์ หรือปั่นจักรยานมาหาซื้อทั้งปลาและผักไม่ขาดสาย เพราะเชื่อมั่นในความสดใหม่ของปลาและผักปลอดสารพิษ โดยพื้นที่บริเวณนี้ถือเป็นการวางแผงขาย เพื่อบ่งบอกว่าเป็นปลาธรรมชาติจากแม่น้ำโขง ไม่ใช่ย้อมแมวขายเหมือนบางแห่ง ที่ทำให้เสียชื่อเสียง โดยเอาปลาเลี้ยงจากที่อื่นมาอ้างเป็นปลาธรรมชาติอย่างนี้ เป็นต้น
ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม อยู่เลียบแม่น้ำโขง เริ่มจากโรงเรียนเซนต์ยอแซฟไปสุดที่โรงแรมฟอร์จูนวิวโขง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ถนนเส้นนี้มีความหลากหลายทางศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี เช่น โบสถ์นักบุญอันนา หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ พระติ้ว-พระเทียมวัดโอกาสศรีบัวบาน พญาศรีสัตตนาคราช ฯลฯ เป็นชุมชนดั้งเดิมของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม รวมถึงวิถีชีวิตชาวอีสานที่มีความผูกพันกับแม่น้ำโขง พรั่งพร้อมด้วยทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำที่งดงาม
พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี