จับตา‘FU.1’
เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่
หวันแพร่หนักเปิดเทอม
กรมวิทย์ยันจับตาโควิด “FU.1” หลาน XBB.1.16 มาตลอด รับแพร่เร็วขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลรุนแรงถึงเสียชีวิต ด้านกรมควบคุมโรคเฝ้าระวังติดเชื้อในเด็กเพราะเป็นช่วงขาขึ้น และเปิดเทอมแล้ว หวั่นเด็กนำเชื้อแพร่ผู้สูงอายุที่บ้าน เตือนกลุ่มเสี่ยง 608 ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เผยแนะมาตรการให้แต่ละโรงเรียนสกัดระบาดแล้ว ย้ำเมื่อมีเด็กป่วยไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน อยู่ที่วิธีบริหารจัดการของแต่ละรร. จะให้แยกห้องเรียนหรือเรียนออนไลน์ แนะระวังการกินอาหารร่วมกันทำเชื้อแพร่ สายบุฟเฟต์ต้องระวัง
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประสานความร่วมมือทุกประเทศเฝ้าติดตามเชื้อไวรัสโควิด-19 ตระกูลโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย “FU.1” หรือ XBB.1.16.1.1 หลานของ XBB.1.16 ซึ่งมีความได้เปรียบ ที่เติบโตและแพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ถึง 50% โดยไทยพบแล้ว 1 คนว่า เป็นข้อมูลที่กรมวิทย์ฯ รายงานไปยังฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ GISAID ซึ่งกรมฯติดตามและสุ่มตรวจถอดรหัสสายพันธุ์อยู่ต่อเนื่อง เท่าที่ติดตามแม้จะแพร่ระบาดเร็ว แต่ยังไม่พบความรุนแรงของโรค จนส่งผลให้เสียชีวิตมาก
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดเร็วอาจมาจากปัจจัยอื่นด้วย ทั้งการรวมตัวทำกิจกรรมของผู้คนที่มีมากขึ้น รวมถึงคนใส่หน้ากากอนามัยน้อยลง เนื่องจากบางคนเห็นว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ไม่อยากให้กังวล เพราะธรรมชาติของไวรัสมีการกลายพันธุ์ไปหลายสายพันธุ์จำนวนมาก กรมฯยังติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง
ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวถึงสถานการณ์โควิดว่า ขณะนี้โควิดกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพราะโควิด กลายเป็นโรคประจำถิ่น คนถอดหน้ากาก และมีกิจกรรมกันมากขึ้น ประกอบกับภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง เนื่องจากคนฉีดวัคซีนมานาน หลายคนฉีดวัคซีนเกิน 1 ปี หลังฉีดเข็มสุดท้ายทำให้เสี่ยงติดเชื้อเพิ่มดังนั้น ยังจำเป็นต้องมีมาตรการ เช่น ต้องการให้ประชาชนทุกคนมีภูมิคุ้มกันเรียกว่าสูงเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ต่อเนื่อง แม้ตอนนี้จะเป็นโอมิครอนที่ทำให้มีอาการน้อยก็ตาม แต่ถ้าภูมิคุ้มกันน้อย และเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อภูมิคุ้มกันไม่พอก็มีโอกาสทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว
“ดังนั้น จึงต้องรณรงค์ต่อเนื่องคนกลุ่มเสี่ยงขอให้มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือ แอนติบอดีสำเร็จรูป LAAB เช่นเดียวกับ กรณีกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนมานานแล้ว หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อติดเชื้อขอให้รีบไปพบแพทย์ ได้รับยาต้านไวรัสเพื่อรักษาให้ทัน”นพ.จักรรัฐกล่าว
และย้ำว่า ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ในกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะที่เป็นคัตเตอร์หรือกลุ่มต่างชาติ ขณะนี้กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดูแลร่วมกันหากมีคัตเตอร์หรือกลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาจะเก็บตัวอย่าง เพื่อส่งเชื้อตรวจหาสายพันธุ์ อย่างกรณีชาวต่างชาติได้ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนส่งตัวอย่างเพื่อตรวจหาสายพันธุ์เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โควิด-19 ยังเป็นสายพันธุ์ XBB ยังไม่ใช่ตัวใหม่ ซึ่งเราก็ติดตามต่อเนื่อง
นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า วันนี้เปิดเทอมวันแรก ดังนั้นกลุ่มเด็กจึงเป็นอีกกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังและคาดว่าจะมีการติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคได้มีข้อแนะนำผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ไปถึงโรงเรียน หากพบเด็กมีอาการ ขอให้ตรวจATK โดยเด็กนักเรียนที่ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน ขึ้นอยู่กับมาตรการของโรงเรียนนั้นว่า หากไม่มีอาการมากสามารถแยกห้องเรียน หรือแยกไม่ให้รับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนหรือบุคคลอื่น หากติดเชื้อเป็นกลุ่มสามารถแยกห้องเรียนหรือเรียนออนไลน์ได้ อยู่ที่ความเหมาะสมของสถานการณ์ โดยโรงเรียนจะออกมาตรการ
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่การรับประทานอาหาร หากเป็นเด็กเล็กจะเป็นการมีกิจกรรมเล่นด้วยกันทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ ที่ผ่านมามีรายงานการติดเชื้อเป็นคัตเตอร์ประปรายเข้ามาที่กรมควบคุมโรค ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด อย่างในโรงเรียนจะเป็นระดับประถมศึกษา อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มเด็กไม่น่าห่วงมากเรื่องความรุนแรงเพราะอาการไม่มากและหายได้ แต่ที่น่าห่วงคือ กลุ่มผู้สูงอายุที่เด็กลูกหลานนำเชื้อไปติดปู่ย่าตายาย ซึ่งหากกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัวไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเสี่ยงอาการรุนแรงและอันตรายได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงการรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือบุฟเฟ่ต์ต่างๆมีความเสี่ยงด้วยหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้น หากเรามีภูมิคุ้มกันจะช่วยป้องกันอาการรุนแรงได้
ขณะที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีเผยว่า โควิด-19 ตระกูลโอมิครอนยังกลายพันธุ์ต่อเนื่อง โดยกลุ่มโอมิครอน XBB.1.5 ลดจำนวนลง จนในที่สุดจะถูกแทนที่โดยกลุ่ม XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 พบระบาดมากที่สุดในอินเดีย อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ย่อยกลุ่มโอมิครอน XBB.1.16 โดยเฉพาะ “FU.1 (XBB.1.16.1.1)” ถือว่าเป็นรุ่นหลาน พบรระบาดมากในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกได้ประสานความร่วมมือให้ช่วยเฝ้าติดตาม เนื่องจากพบการเติบโตและแพร่ระบาด สูงกว่า XBB.1.16 ถึง 50% ขณะนี้ทั่วโลกพบโอมิครอน XBB.1.16.1.1 หรือ FU.1 จำนวน 122 ราย พบในไทย 2 ราย โดยในไทย โอมิครอนสายพันธุ์หลักยังเป็น XBB สายพันธุ์ย่อยอันดับหนึ่ง คือ XBB.1.16 ประมาณ 19%
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี