ชาวชุมชนรัชดาเฮ!! ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอน EIA คอนโดหรู 'ศุภาลัย ลอฟท์ รัชดาฯ-วงศ์สว่าง' ด้าน'ศรีสุวรรณ'เล็งยื่น ป.ป.ช. เอาผิดคชก.กทม.รายบุคคล เหตุผ่าน EIA มิชอบ
วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับชาวชุมชนรัชดา 64-66 ยื่นฟ้อง/คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน/กรุงเทพมหา นคร หรือ คชก.กทม. เพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนรายงานEIA โครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง ของ บมจ.ศุภาลัย (SPALI) ที่เข้ามาก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูง และมีความยาวมากกว่า 303.5 เมตร ทำให้บังแดด-บังลมของชาวบ้านข้างเคียง โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับ ตัวแทนชาวชุมชนรัชดา ซอย 64-66 ผู้แทน คชก.กทม. และผู้แทนเจ้าของโครงการดังกล่าวเข้าร่วมฟังการอ่านคำพิพากษา
โดยนายศรีสุรรณ เผยภายหลังเข้าฟังคำพิพากษา ว่าศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติคณะกรรมการชำนาญการฯ ทำให้รายงาน EIA โครงการนี้ถูกเพิกถอนไปทั้งหมด เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบด้านการบังแสงแดด ทิศทางลม ทำให้ชาวบ้านในรัศมีตั้งแต่ 100-1,000 เมตร ได้รับผลกระทบในระยะยาว และในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแลดล้อม EIA ไม่มีมาตรการแก้ไขที่เป็นที่เชื่อใจเชื่อมั่นของชาวบ้าน อีกทั้งไม่มีการศึกษาผลกระทบในรัศมีดังกล่าวให้ครอบคลุม ซึ่งศาลได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงมีคำสั่งเพิกถอนรายงานการประเมิณผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยสอดคล้องกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เมื่อ 26 ธันวาคม 2565 ให้ระงับการก่อสร้างออกไปก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ทำให้โครงการนี้ต้องยุติโครงการไปโดยปริยาย แม้จะได้มีการก่อสร้างลงเสาเข็มไปบางส่วน
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า โดยจากนี้ทางสมาคมต่อต้านโลกร้อนและชาวบ้านจะดำเนินการให้ผู้รับเหมาย้ายเครนและวัสดุก่อสร้างออกไป เนื่องจากเครนตั้งอยู่สูงและมีความเสี่ยงหวั่นว่าเกิดเครนล้มหากมีลมพัดแรง ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ตัดสิทธิผู้ประกอบการที่จะไปจัดทำการออกแบบก่อสร้างคอนโดฯนี้ใหม่และไปดำเนินการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ เพื่อรับฟังความเห็นของชาวบ้าน ซึ่งตนเชื่อว่าชาวบ้านในพื้นที่จะไม่ยอมง่ายๆ เพราะผลของคำพิพากษาค่อนข้างชัดเจนว่าการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของ กทม.ไม่ได้ใช้ดุลยพินิจหรือหลักวิชาการที่ถูกต้องในการให้ความเห็นชอบ แม้ผู้ประกอบการหรือคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯจะสามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน แต่เชื่อว่ากระบวนการพิจารณาของศาลคงไม่แตกต่างจากคำพิพากษาในวันนี้
เมื่อถามว่าทุกครั้งที่มีการศึกษาด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็จะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำ EIA มิชอบจะดำเนินการอย่างไรกับเจ้าหน้าที่รัฐ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในความคิดของสมาคมฯอยู่แล้ว โดยจะนำคำพิพากษาศาล ปกครองไปยื่นต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการตรวจสอบคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯทั้งหมดที่ยกมือให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมาสมาคมฯได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านมาโดยตลอดว่าได้รับผลกระทบจากการอนุมัติอนุญาตของคณะกรรมการชำนาญการฯมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการคัดค้าน แต่ไม่นำข้อคัดค้านท้วงติงไปประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่ทุกโครงการเมื่อผ่านคณะกรรมการชำนาญการฯก็จะมักจะผ่านความเห็นชอบแทบทั้งสิ้น
“แม้ชาวบ้านจะคัดค้าน ทำหนังสือคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องแล้ว แค่ คชก.ก็ไม่นำข้อท้วงติง ข้อกังล ปัญหาของชาวบ้านไปพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบ แต่ทุกโครงการเมื่อผ่าน คชก.ก็มักจะได้รับความเห็นชอบออกมาแทบทั้งสิ้น เรื่องนี้จึงน่าจะเป็นบทเรียนที่สำคัญในการนำคำพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งเขียนมีเหตุมีผลมีหลักวิชาการค่อนข้างชัดเจนไปให้ทาง ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนสอบสวนเพื่อเอาคิดคณะกรรมการ คชก.เป็นรายบุคคลที่ยกมือให้ผ่านรายงาน EIA ฉบับนี้” นายศรีสุวรรณ กล่าว
ด้านนางศิริ เหมือนศรี อายุ 81 ปี ชาวบ้านผู้อยู่อาศัยในซอยรัชดา 66 ระบุว่าบ้านตัวเองอยู่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการคอนโดหรูเพียง 8 เมตร ขณะนี้เครนปั่นจั่นอยู่เหนือหลังคาบ้านมานานหลายเดือนแล้ว นับตั้งมีคำสั่งระงับการก่อสร้าง ไม่มีการเคลื่อนย้าย ตนรู้สึกหวาดกลัวหากเกิดพายุ ก็ไม่รู้ว่าปั้นจั่นจะล้มลงมาหลังบ้านคาบ้านเมื่อไหร่ ทั้งนี้ตนรู้พอใจกับคำพิพากษาของศาลในวันนี้ และขอบคุณศาล
ด้านนางบุศกร คงอุดม อายุ 59 ปี กล่าวว่าได้รับการติดต่อจากบริษัทที่รับจัดทำรายงานประเมิณ EIA ของโครงการก่อสร้างนี้ โดยเสนอว่าระหว่างการก่อสร้างโครงการจะเช่าดอนโดให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน จนไม่สามารถพักอาศัยในบ้านตัวเองได้ ดังนั้นย่อมรู้แก่ใจว่าการก่อสร้างโครกงารจะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน และการทำ EIA ก็ไม่มีความโปร่งใส จึงให้ศาลมีคำพิพากษาในวันนี้ออกมา จึงขอคุณศาลที่รับฟังความคิดเห็นและพิสูจน์ความเป็นจริงให้ชาวบ้าน ทำให้โครงการนี้ต้องหยุดก่อสร้าง เชื่อว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปไม่ใช่ว่าบริษัทใหญ่จะชนะทุกคดี โดยการตัดสินของศาลได้คำนึงผลกระแทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งทิศทางลม แสงแดด ส่วนการฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้นต้องปรึกษาทนายความก่อน
“ระหว่างที่เขาตอกเสาเข็ม ย้ายของเข้ามา บ้านเราสั่นสะเทือนมาก แม้บ้านปลูกอย่างแน่นหนา แต่ตอนนี้มีรอยร้าวอย่างชัดเจนเกิดขึ้นที่ผนังปูน ก็ไม่รู้ว่ารอยราวที่เกิดขึ้นวันนี้ เมื่อไหร่จะกลายเป็นรอยแยก ซึ่งต้องติดตามด้วยตัวเอง และบ้านบางหลังตัวบ้านทรุด โดยบ้านที่อยู่ใกล้ๆได้รับผลกระทบทุกหลัง” นางบุศกร กล่าว
สำหรับคดีนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อ 26 ธ.ค.65 ให้การคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้แก่ชาวบ้านย่านรัชดาภิเษก ซอย 64-66 ชุมชนประชานุกูล เขตบางซื่อ ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อันเนื่องมาจากการก่อสร้างโครงการจะทำให้บังแดด-บังลมของชาวบ้านข้างเคียง โดยศาลฯชี้ว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เร่งรีบให้ความเห็นชอบรายงานอีไอเอ (EIA) ทั้งที่ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี