หนักสุดรอบ3ปี
สธ.เตือน‘ไข้เลือดออก’
ปีนี้ป่วยแล้ว1.8หมื่น
เร่งประสานพันธมิตร
รณรงค์หยุดป่วย/ตาย
จ่อใช้วัคซีนรุ่นใหม่สู้
สธ. ห่วงไข้เลือดออกระบาดหนักสุดในรอบ 3 ปี ผู้ป่วยรุนแรง-เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ผนึกกำลัง กทม. และ9 พันธมิตร รณรงค์ “ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก” เผยปีนี้ป่วยแล้ว 1.8 หมื่นคน เป็นห่วงคนไทยภูมิตก ระบุมา 60 ปี ไม่เคยชนะ ทำได้แค่ชะลอ แจงวัคซีนไข้เลือดออกไม่ค่อยได้ผลเหตุยังไม่ครอบคลุม 4 สายพันธุ์ ด้าน “หมอยง” เตือนให้จับตา กรกฎาคม-ตุลาคม ยอดผู้ป่วยพุ่ง ย้ำต้องช่วยทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ที่เดอะฮอลล์ กรุงเทพฯ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานวันไข้เลือดออกอาเซียน ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก” (Moving Forward to Zero Dengue Death) ร่วมกับกรุงเทพมหานครและ 9 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.), การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), กลุ่มบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Dengue-Zero และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมรณรงค์ป้องกัน-รู้เท่าทัน ต้านการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะระบาดหนักที่สุดในรอบ 3 ปี พร้อมมอบเงินรางวัลมูลค่ารวม 100,000 บาท แก่ผู้ชนะการประกวดสื่อสร้างสรรค์ “ASEAN Dengue Day Contest 2023” ที่จัดขึ้นเป็นปีแรก
นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคอุบัติใหม่ของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ก่อนพัฒนาจนเป็นโรคประจำถิ่นที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทยและอาเซียน ที่ผ่านมา 60 ปี เราไม่เคยต่อสู้ชนะ มีเพียงชะลอการเสียชีวิตให้ลดลง ด้วยการแพทย์ที่พัฒนาขึ้น สำหรับปีนี้ไข้เลือดออกน่าเป็นห่วง เนื่องจากเราไม่ติดหลายๆ ปี ภูมิต้านทานที่เคยมีกับไข้เลือดออกจะลดลง ปีนี้จึงเสีย่งสูงที่จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงทั้งภูมิภาคอาเซียนและไทย ซึ่งจากการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน ศาสนสถาน ชุมชน โรงงาน ออกมาตรงกันว่ามีลูกน้ำยุงลายมีมากกว่าปีที่ผ่านมา 2-3 เท่า ทำให้ยุงลายมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย มีโอกาสกัดคนมากขึ้นและถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปสู่คนมากขึ้น
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม 2566 ไทยมีผู้ป่วย 18,173 ราย มากกว่าปีที่แล้ว 4.2 เท่า เป็นการระบาดสูงสุดในรอบ 3 ปี และมีผู้เสียชีวิต 15 ราย เฉลี่ยมีผู้ป่วยสัปดาห์ละ 900 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1 ราย พบอัตราป่วยสูงสุดคือ กทม. ภาคใต้ และภาคกลาง โดยนักเรียนอายุ 5-14 ปีป่วยสูงสุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี
อย่างไรก็ตาม ทุกจังหวัดมีความเสี่ยงหมดก็ต้องควบคุมลูกน้ำยุงลาย จากจำนวนผู้ป่วยที่มีถือว่าวิกฤตแล้วหรือไม่นั้น ช่วงปีที่เรามีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากๆคือประมาณ1.5แสนคน ปีนี้ ก็ยังไม่ถือว่าวิกฤตมากนัก แต่ปีนี้คนไทยมีภูมิต้านทานต่อไข้เลือดออกน้อย มีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตได้ เดือนนี้ จึงต้องไม่ประมาท และร่วมมือกัน เพราะไข้เลือดออกระบาดตามฤดูกาล คือ ช่วงฤดูฝน เดือนมิถุนายนก็เข้าฤดูฝนแล้วจะเป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงขึ้น และจะมีการระบาดสูงอยู่ 3-4 เดือนจากนี้ ก็ต้องช่วยกันรณรงค์ควบคุมป้องกันไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป
นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่น่าห่วงคือขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสรักษาไข้เลือดออก จากเชื้อไวรัสเดงกีโดยตรง การป้องกันจึงสำคัญ ทำอย่างไรให้ไม่ถูกยุงกัด และย้ำเตือนว่าระยะแรกของไข้เลือดออก การวินิจฉัยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีอาการคล้ายกับโรคอื่น หากไม่ติดตามอาการหรือสังเกตจะทำให้การรักษาล่าช้า เกิดความรุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด มาตรการวินิจฉัยให้เร็วที่สุดและสังเกตตัวเองจึงมีความสำคัญ ขณะที่แต่ละบ้านควรสำรวจลูกน้ำยุงลายและช่วยกันกำจัด รวมไปถึงชุมชน
นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.ดำเนินการ 3 กลยุทธ์ลดไข้เลือดออก คือ 1.Rebrand รณรงค์ป้องกันก่อนเกิดโรค ปรับภาพลักษณ์หน่วยงานรัฐด้วยนโยบายเชิงรุก 2.Rethink เปลี่ยนความคิดคนไทยให้รู้เท่าทันภัยร้ายของไข้เลือดออก เริ่มต้นด้วยการดูแลตัวเอง และ 3.Reconnect ผนึกกำลังภาคีรัฐและเอกชน ชูนวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก
สำหรับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เคยออกมา 10 ปีที่แล้วในตลาดและใช้ในประเทศฟิลิปปินส์ พบว่าการทดลองอาจจะได้ผลดี แต่เอามาใช้ในภาคสนามกลับไม่ได้ผลดี การใช้วัคซีนมีทั้งประโยชน์และสิ่งที่พึงระวัง ขณะนี้เป็นโอกาสดีที่มีวัคซีนรุ่นใหม่ของบริษัทประเทศญี่ปุ่น เราคงติดตามข้อมูลและเริ่มปฏิบัติการนำไปใช้อย่างเหมาะสมต่อไป กรมควบคุมโรคกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ ซึ่งคงต้องผ่านกระบวนการทดสอบและนำไปใช้จริงและประเมินอีก เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด
ถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัคซีนไข้เลือดออกยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร นพ.โอภาสกล่าวว่า เนื่องจากไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์หลักๆ เวลาพัฒนาวัคซีนต้องมห้ครบทั้ง 4 ชนิด จึงเป็นความยาก นอกจากนี้ ธรรมชาติของไข้เลือดออกเมื่อติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรงมากนัก จะรุนแรงเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองโดยสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน พอคนที่ฉีดวัคซีนเข้าไปบางคนเคยติดเชื้อมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อฉีดวัคซีนก็เหมือนกระตุ้นครั้งที่สอง ทำให้บางครั้งอาการรุนแรงขึ้น เป็นความยากของวัคซีนแต่ละชนิด ไม่เหมือนโควิดที่ยังเป็นสายพันธุ์หลักเดียวการป้องกันจะง่ายกว่า
วันเดียวกัน นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ใจความว่า “ไข้เลือดออก ปีนี้จะระบาดมากตามวงจร” ไข้เลือดออกจะระบาดมาก ปีเว้น 1-3 ปี ถ้าดูตามข้อมูลการระบาดของไข้เลือดออกจะมาเป็นระลอกทุก 1-3 ปี การระบาดระลอกใหญ่เกิดขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 ใน ปี พ.ศ.2562 และเว้นช่วงการระบาดในช่วงโควิด เพราะเราหยุดอยู่บ้านกันมาก ปิดโรงเรียน มีการล็อกดาวน์ การเดินทางก็น้อยลงการแพร่กระจายเลยน้อยลง ทั้งนี้ ฤดูกาลของไข้เลือดออกจะสูงขึ้นในเดือน ก.ค.ถึง ต.ค. นี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดการระบาดของโรคทุกคนต้องช่วยกัน ลดการแพร่กระจายของยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงให้มากที่สุด และป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด จะเป็นการลดการระบาดของโรคลงได
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี