เช็คที่นี่!ตำรวจแก้ระเบียบคัดแยก‘ทะเบียนประวัติอาชญากร’ คุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาแล้ว
16 มิถุนายน 2566 ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก กสม. ได้ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการจัดเก็บทะเบียนประวัติอาชญากรและการเปิดเผยประวัติที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เช่น กระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพ กรณีหน่วยงานปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานหรือกรณีนายจ้างนำประวัติอาชญากรของผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีอาญาในขณะที่ยังเป็นเยาวชนมาประกอบการพิจารณารับเข้าทำงาน
ปัญหาฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไม่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งปัญหาบุคคลผู้ได้รับประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินแล้วแต่ยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร กสม. จึงได้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ให้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ สตช. ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ
โดยเสนอให้แยกประเภทบัญชีเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 บัญชีประวัติผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณา และประเภทที่ 2 บัญชีบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและให้สอดคล้องตามหลักสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินว่าผิด (Presumption of innocence) ทั้งยังมีข้อเสนอให้ สตช. บันทึกข้อมูลการล้างมลทินไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นการเพิ่มเติมด้วย
ภายหลังจาก กสม. มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ สตช. ดังกล่าว กองทะเบียนประวัติอาชญากร สตช. ได้จัดทำ "โครงการลบล้างประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” เพื่อติดตาม กำชับเกี่ยวกับการแจ้งผลการดำเนินคดีถึงที่สุด การคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือและรายการประวัติหรือบัญชีประวัติออกจากสารบบ โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – มีนาคม 2566 สามารถลบประวัติอาชญากรของผู้ที่พ้นโทษได้กว่า 2.6 ล้านรายการ หรือร้อยละ 20.15 ของทะเบียนประวัติอาชญากรที่จัดเก็บไว้ทั้งหมดประมาณ 16 ล้านรายการ
ล่าสุด สตช. ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 มิถุนายน 2566 แจ้งมายัง กสม. ว่า ขณะนี้ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบ สตช. ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 เสร็จแล้ว โดยระเบียบฉบับใหม่ลงวันที่ 27 เม.ย. 2566 มีผลบังคับใช้ 30 วัน นับแต่วันประกาศเป็นต้นไป ซึ่งหลักการของการปรับปรุงแก้ไขเป็นไปตามข้อเสนอแนะของ กสม. เพื่อให้การจัดเก็บทะเบียนประวัติสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
สตช. ได้ปรับปรุงเนื้อหาเรื่องการคัดแยกและถอนประวัติการกระทำความผิดอาญา และการกำหนดทะเบียนในการจัดเก็บประวัติในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ โดยแบ่งออกเป็น 3 ทะเบียน สรุปได้ดังนี้
(1) ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา หมายความถึง บัญชีข้อมูลของบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดที่เป็นคดีอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือฟ้องต่อศาลแล้วแต่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยห้ามมิให้เปิดเผยทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เพื่อประโยชน์ภายใน สตช. ในภารกิจคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน เพื่อใช้ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม สืบสวน สอบสวน การรักษาความปลอดภัยของทางราชการ และการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม
ในกรณีที่มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหน่วยงานใดต้องการประวัติผู้ต้องหา เพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน ให้เป็นอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ทะเบียนประวัติอาชญากรและทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร
(2) ทะเบียนประวัติอาชญากร หมายความถึง บัญชีข้อมูลของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาญา โดยต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า 1 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ยกเว้นเป็นผู้กระทำความผิดโดยประมาทเป็นทะเบียนที่เปิดเผยได้
(3) ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร หมายความถึง บัญชีข้อมูลของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในคดีอาญาโดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้ หรือรอการกำหนดโทษ หรือลงโทษกักขัง หรือลงโทษปรับสถานเดียว รวมถึงเป็นผู้กระทำความผิดโดยประมาท โดยไม่ให้เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก เว้นแต่จะเป็นการให้ข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน ในกรณีของการกระทำความผิดซ้ำจากการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะ หรือกรณีอื่นตามที่กฎหมายกำหนด โดยให้เป็นดุลยพินิจของผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ
นอกจากนี้ ระเบียบฉบับนี้ยังกำหนดให้มีการคัดแยกและถอนประวัติให้กับบุคคลที่มีประวัติจัดเก็บไว้ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรตามหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น แผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของบุคคลในคดีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้อง บุคคลที่มีกฎหมายบัญญัติในภายหลังว่าการกระทำนั้นๆ ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ผู้ได้รับการนิรโทษกรรม ผู้ได้รับการอภัยโทษหรือได้รับประโยชน์จากกฎหมายล้างมลทินเมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับการอภัยโทษหรือมีกฎหมายล้างมลทิน
ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดในคดีอาญาและไม่ได้กระทำความผิดซ้ำอีกเมื่อพ้นระยะเวลา 20 ปี ผู้กระทำความผิดเป็นเด็กหรือเยาวชน ตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติศาล เยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของบุคคลที่ไม่ได้นำตัวมาดำเนินคดีจนขาดอายุความ เป็นต้น ด้วยหลักเกณฑ์ข้างต้นตามระเบียบฯ ฉบับใหม่ของ สตช. จะส่งผลให้สามารถคัดแยกทะเบียนประวัติบุคคลที่เป็นผู้ต้องหา (ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด) ออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรได้ เป็นจำนวนถึง 13 ล้านรายการ
น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากข้อเสนอต่อ สตช. แล้ว ที่ผ่านมา กสม. ยังมีข้อเสนอให้กระทรวงยุติธรรมเร่งรัดการพิจารณาเสนอร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. .... เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการกำหนดรูปแบบศูนย์กลางข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร โดยเพิ่มหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยประวัติผู้ได้รับประโยชน์จากการล้างมลทิน การลบประวัติอาชญากรออกหากเจ้าของประวัติไม่ได้กระทำผิดซ้ำหลังจากพ้นโทษ 5 ปี ซึ่งขณะนี้ กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการดำเนินการ
“ที่ผ่านมา กสม. ได้รับทราบปัญหาของผู้พ้นโทษจำนวนมากที่ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ดังเดิม โดยเฉพาะการขาดโอกาสหรือพบอุปสรรคในการเข้าทำงานในองค์กรต่าง ๆ เนื่องจากยังมีประวัติอาชญากรติดตัวอยู่และผู้อื่นสามารถล่วงรู้ได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้พวกเขาต้องหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำหรือประกอบอาชีพที่ไม่สุจริต กสม. จึงขอขอบคุณ สตช. ที่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. แก้ไขปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับการจัดเก็บประวัติอาชญากรโดยการคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้พ้นโทษและเยาวชนที่เคยกระทำผิดให้ได้กลับมามีโอกาสที่ดีในชีวิตอีกครั้ง” น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าว
น.ส.ปิติกาญจน์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นความกังวลของสื่อมวลชนเกี่ยวกับระเบียบ สตช. ฉบับใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาในการรายงานข่าวอาชญากรรม สื่อมักรายงานข่าวด้วยว่าตนร้ายหรือผู้ก่อเหตุเคยมีประวัติอย่างไรบ้าง ทั้งคดีที่มีหมายจับแล้วหลบหนี คดีที่อยู่ระหว่างประกันตัว และคดีที่ศาลตัดสินผิดจริงต้องโทษจำคุกแต่พ้นโทษออกมาแล้ว หลังจากนี้จะยังรายงานข่าวแบบดังกล่าวได้หรือไม่ ว่า เรืองนี้ต้องกลับมาดูที่ระเบียบ สตช. ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 16 มิ.ย. 2566 วันเดียวกับที่ กสม. แถลงข่าวนี้ กสม. ยังมีการจัดเสวนาเรื่อง “ถอดบทเรียนทะเบียนประวัติอาชญากร” ด้วย ซึ่งภายในงานมีการพูดถึง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยตั้งคำถามว่าระหว่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว กับระเบียบของ สตช. กฎหมายใดใหญ่กว่ากัน อย่างไรก็ตาม กสม. ได้เสนอให้กระทรวงยุติธรรม จัดทำร่างกฎหมายประวัติอาชญากรรมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เป็นกฎหมายกลาง และเป็นรูปแบบของศูนย์กลางข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของประเทศไทย
“ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงที่เขาคงจะรอทางรัฐบาลแล้วก็เป็นการเสนอกฎหมายฉบับนี้เข้าไป ก็คิดว่าเมื่อมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาแล้ว เราก็คงจะไปคุยกับทาง สตช. ว่าระเบียบของ สตช. ก็ต้องสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ประวัติอาชญากรรม เราก็ต้องมาพิจารณาอีกว่านอกจากมีประวัติอาชญากรรมแล้ว ขณะนี้มันยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย ซึ่งอันนี้จะต้องเข้ามาดู เพราะ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มันคุ้มครองแต่ละคนที่เขาได้รับผลกระทบ อันนี้คิดว่าในส่วนของสื่อมวลชนที่เสนอข่าวก็ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย” น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าว
ด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 นั้นคุ้มครองข้อมูลของบุคคลต่างๆ ซึ่งทิศทางการแก้ไขระเบียบครั้งนี้ของ สตช. เป็นไปในทางคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสอดคล้องกับหลักการที่ว่าบุคคลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินว่าผิด (Presumption of innocence) ซึ่งที่ผ่านมาผู้ที่ถูกแจ้งความในคดีต่างๆ ถูกพิมพ์ลายนิ้วมือ ระบบการจัดเก็บข้อมูลประวัตอาชญากรทำให้ถูกเหมารวมไปหมด แต่ตอนนี้เมื่อแยกออกมาต่างหาก ข้อมูลของกลุ่มนี้ทางตำรวจไม่สามารถนำไปส่งต่อให้ใครได้
“สมัยก่อนหน่วยงานโน้นหน่วยงานนี้ขอข้อมูลมา ภาคเอกชนบางทีต้องการเช็คประวัติอาชญากร ขอมาก็อาจจะมีการเปิดเผยไปทั้งๆ ที่เขาไมได้เป็นอาชญากรแต่เป็นแค่ผู้ต้องหา เราก็จะเห็นว่าแค่เป็นผู้ถูกกล่าวหา รายชื่อก็จะไม่ถูกเปิดเผย แล้วก็มีประเด็นที่ว่าในกรณีที่ศาลตัดสินแล้วว่าเขาไม่ผิด อันนั้นเขาก็จะไม่อยู่ในบัญชีประวัติอาชญากร รวมถึงกรณีที่มีการนิรโทษกรรม มีการล้างมลทินแล้ว หรือผ่านไปกี่ปี หลักพวกนี้จะทำให้ชัดเจนขึ้นในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล” นายวสันต์ กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี