ผู้แทน UN Thailand ชื่นชมสุดยอดหัตถศิลป์หัตถกรรมภูมิปัญญาไทย ในนิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” พร้อมเน้นย้ำ ร่วมขับเคลื่อนงานกับชาวมหาดไทยเพื่อส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาไทยตามพระดำริฯ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนตามเป้าหมาย SDGs
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำคณะผู้บริหารระดับสูงขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Thailand) อาทิ นางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา (Ms. Armida Salsiah Alisjahbana) เลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) นางกีต้า ซับบระวาล (Ms. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย Ms. Banashri Sinha ผู้เชี่ยวชาญประจำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (UNFCCC) Mr. David Mclachlan-Karr ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDCO) ประจำภูมิภาค Ms. Siriluck Chiengwong หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) Ms. Kyungsun Kim ผู้แทนกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เป็นต้น เข้าชมนิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยได้รับเกียรติจาก คุณรติรส จุลชาต ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บก.นิตยสารโว้กไทยแลนด์ นายศิริชัย ทหรานนท์ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์เธียเตอร์ (THEATRE) นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเยี่ยมชม โดยมี นางปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และคณะ ให้การต้อนรับและนำชม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สนองพระมหากรุณาธิคุณด้วยทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณีกิจในด้านการส่งเสริมงานหัตถศิลป์หัตถกรรมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการปฏิบัติภารกิจงานด้านศิลปาชีพและดูแลการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ซึ่งได้ทรงนำความรู้ด้านผ้าและเครื่องแต่งกาย ตลอดจนประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นมาพัฒนาการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ผ้า ฯ รวมถึงการจัดทำนิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” (Decades of Style: The Royal Wardrobe of Her Majesty Queen Sirikit) ซึ่งเป็นนิทรรศการแรกในฐานะที่ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาและหัวหน้าภัณฑารักษ์ โดยทรงเอาพระทัยใส่รายละเอียดในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน ด้วยทรงพระดำริที่จะจัดนิทรรศการนี้ให้ออกมางดงามสมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมากที่สุด
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนำความรู้ด้านผ้าไทยและเครื่องแต่งกายจากฝีมือคนไทยที่ทรงมีความสนพระทัยตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และทรงซึมซับจากการตามเสด็จฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในภูมิภาคต่าง ๆ กระทั่งทรงเข้าศึกษาในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อด้านแฟชั่นในต่างประเทศ โดยเมื่อทรงสำเร็จการศึกษา ก็ได้ทรงนำองค์ความรู้จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และทดลอง ตลอดจนประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นมาส่งเสริมถ่ายทอดให้กับประชาชนคนไทยในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริ “ขาดทุนคือกำไร” ทำให้เกิดการฟื้นคืนชีวิตช่างทอผ้าเมื่อ 50 ปีก่อนเกิดเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกที่บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม และนับเป็นความโชคดีของคนไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมาต่อยอดพระราชกรณียกิจทั้งปวง โดยพระราชทานพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อพัฒนาศักยภาพและแนวความคิดตลอดจนกรรมวิถีผลิตผืนผ้าของช่างทอผ้าทั่วประเทศไทยที่แต่เดิมมักจะคุ้นชินกับการถักทอผ้าตามลวดลายแบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดตกทอดมา ให้ได้มีการปรับเปลี่ยนขนาด ลวดลาย และเทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งทรงส่งเสริมในด้านแฟชั่นแห่งความยั่งยืน (Sustainable Fashion) ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง ให้ประชาชนได้ปลูกพืชพันธุ์ต้นไม้ให้สี เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าว
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” (Decades of Style: The Royal Wardrobe of Her Majesty Queen Sirikit) จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยเป็นการจัดแสดงบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจผ่านฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในช่วงเวลาต่าง ๆ ตามยุคสมัย ทำให้ได้เห็นถึงความงดงามของฉลองพระองค์ที่ล้วนออกแบบและตัดเย็บด้วยผ้าจากฝีมือของคนไทยเป็นส่วนใหญ่ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้นำการเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยพระองค์เองผ่านการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำผลงานช่างฝีมือของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ ไปจัดแสดงทุกครั้งที่เสด็จ ฯ เพื่อส่งเสริมให้ผ้าทอและงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระดำริและทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างหนักในการรังสรรค์นิทรรศการนี้ให้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบและสมพระเกียรติ เพื่อสะท้อนถึงพระราชกรณียกิจอันใหญ่หลวงของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระวิริยอุตสาหะด้วยการทรงอุทิศพระองค์ในการส่งเสริมงานหัตถกรรมการทอผ้าพื้นเมืองเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยในทุกภูมิภาค ด้วยทรงเล็งเห็นว่าภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นงานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศชาติที่ควรค่าแห่งการอนุรักษ์และสงวนรักษาไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบสานให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป โดยนำเสนอผ่านฉลองพระองค์ต่าง ๆ ตามยุคสมัย ซึ่งเป็นฉลองพระองค์ที่มีเอกลักษณ์ของผ้าทอท้องถิ่นไทย อาทิ การเสด็จ ฯ เยือนต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) ทรงเยือนทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศและทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้นผ่านฉลองพระองค์ที่งดงามเหมาะสมกับโอกาสต่าง ๆ โดยทรงพระราชทานพระดำริให้ช่างตัดเย็บได้ตัดเย็บในรูปแบบสากลเพื่อให้เกียรติประเทศเจ้าภาพที่เสด็จ ฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฉลองพระองค์ที่ทรงในเวลากลางวันและใช้ผ้าโทนสีสุภาพ ต่อมาในปี 2513 (ค.ศ. 1970) พระองค์เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยทรงสังเกตว่าหญิงชาวบ้านที่มารอเฝ้ารับเสด็จล้วนแต่งกายด้วยผ้าซิ่นผ้าทอพื้นเมืองสีสันสวยงาม จึงมีพระราชดำริว่าควรจะส่งเสริมให้ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้เป็นอาชีพเสริมและได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ชาวบ้านเริ่มทอผ้าส่งไปถวายโดยตรง ทรงรับซื้อไว้เองก่อน นำมาซึ่งพระราชดำริ “ขาดทุนคือกำไร” และในปี พ.ศ.2519 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อช่วยราษฎรในถิ่นทุรกันดารจากทุกภูมิภาคของไทยให้มีรายได้เสริมจากผ้าทอ รวมทั้งหัตถกรรมประเภทอื่น ๆ อีกด้วย และยังมีนิทรรศการในช่วงปี 1980 1990 และ 2000 สะท้อนถึงพระราชดำริด้านการส่งเสริมหัตถศิลป์หัตถกรรมตามยุคสมัยอันล้าค่าอีกเป็นจำนวนมาก โดยนิทรรศการที่ถือเป็นไฮไลต์ของการจัดแสดง คือ “สุวรรณพัสตรา” ที่สะท้อน “สีทอง” สีแห่งพลังอำนาจและความสำคัญตามความนิยมที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งได้จัดแสดงฉลองพระองค์ชุดไทยส่วนใหญ่ ที่จะเป็นสีทองและประดับด้วยวัสดุสีทอง และยังทรงนำผ้ายกทองจากลำพูนมาใช้ตัดเย็บฉลองพระองค์ชุดไทยในช่วงแรก และต่อมาทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูการทอผ้ายกทองจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยเป็นแหล่งผลิตผ้ายกทองให้ราชสำนักมาตั้งแต่โบราณ จนพัฒนาฝีมือสามารถทอผ้ายกทองเมืองนครได้อย่างงดงาม" ดร.วันดี ฯ กล่าวเพิ่มเติม
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเข้าใจชมนิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” ซึ่งเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. ณ ห้องจัดแสดง 1-2 พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง ถึงเดือนเมษายน 2568
ด้าน นางกีต้า ซับบระวาล (Ms. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวภายหลังการเข้าชมนิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” พร้อมคณะผู้แทนจากหน่วยงานยูเอ็น โดยได้ยกย่องความมุ่งมั่นและองค์ความรู้ด้านแฟชั่นที่ประยุกต์เข้ากับความงดงามของผืนผ้าฉลองพระองค์ที่เห็นได้ประจักษ์ชัดผ่านนิทรรศการอันทรงคุณค่านี้ แสดงให้คนไทยทั่วทั้งประเทศ และคนทั่วทั้งโลกได้รับรู้ได้โดยทันทีว่า ภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่มีมาแต่ก่อนเก่าของบรรพบุรุษไทย โดยเฉพาะในงานหัตถศิลป์หัตถกรรม สามารถสร้างรายได้นำมาซึ่งการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) อาทิ เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจนทกุรูปแบบในทุกพื้นที่ เป้าหมายที่ 3 : สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย เป้าหมายที่ 8 : ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน เป้าหมายที่ 12 : สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 : ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น และเป้าหมายที่ 17 : เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น โดยองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และข้าราชการทุกระดับทั่วทั้ง 76 จังหวัดที่ทำงานด้วยความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ตามพันธกิจ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ตลอดมา เพื่อต่อยอดและนำองค์ความรู้เหล่านี้เสริมสร้างอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนคนไทยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี