นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านธุรกิจยางพาราและไม้ยางพารากับบริษัทซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด (C.C.I.C.) และสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน (SMEs ASEAN) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและไม้ยางพาราไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานของจีน เนื่องจากในปัจจุบันประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราจากประเทศไทยมากกว่า 70% รวมทั้งไม้ยางพาราอีกกว่า 90% ของปริมาณการส่งออก ได้ให้ความสำคัญกับระบบมาตรฐานและการตรวจรับรองก่อนกระบวนการผลิต เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคทั้งระบบ ดังนั้นเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยางพาราของไทยจะต้องเร่งพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราได้รับรองมาตรฐานสามารถส่งออกไปจีนได้
ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่าย จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยางพารา ที่จะพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางได้รับการรับรอง ลดความเสี่ยงการเสียหาย ไม่ถูกตีกลับ และแก้ปัญหายางปลอมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้า และสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ยางพาราของไทยมากขึ้น
ผู้ว่าการ กยท.กล่าวต่อว่า ภายใต้ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่าย กยท.สนับสนุนและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร โดยคัดเลือกจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ที่พร้อมพัฒนาตนเอง พร้อมทั้งส่งเสริมระบบมาตรฐาน การตรวจสอบรับรอง การลงทุนทางการค้าและพัฒนาระบบตลาด โดยทั้ง3 ฝ่ายจะบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อน 4 โครงการหลัก คือ 1.โครงการเพื่อรับรองระบบการจัดการ เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาทางธุรกิจให้เป็นไปตามกฎและข้อกำหนดของการรับรองระบบการจัดการในประเทศจีน 2.โครงการเพื่อการรับรองกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์จากยางพาราและไม้ยางพารา เพื่อเพิ่มความนิยมและความเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพาราจากประเทศไทย ผ่านการใช้ “ฉลาก QRร่วม” 3.โครงการเพื่อตรวจสอบสินค้าก่อนการส่งออก เพื่อรับประกันความปลอดภัยในการเดินทางและยืนยันคุณภาพสินค้า และ 4.โครงการเพื่อการตรวจสอบซัพพลายเออร์ โดยตรวจสอบและช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในประเทศไทย ให้ได้รับใบรับรองซัพพลายเออร์ อย่างถูกต้อง
“กยท. พยายามผลักดันให้เกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มุ่งพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราได้รับการรับรอง สามารถส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับสถาบันเกษตรกรที่พร้อมก้าวสู่บทบาทผู้ส่งออกยางรายใหม่ ที่สามารถผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราได้ตามมาตรฐานสากล” นายณกรณ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี