“พลายศักดิ์สุรินทร์” เริ่มไว้วางใจควาญช้างมากขึ้น ยอมให้อาบน้ำ ขัดงา ขัดเล็บ ขัดหางและยกขาหลังให้ขัดถู ทางด้านทูตไทยในศรีลังกายืนยัน “พลายประตูผา” มีสภาพความเป็นอยู่ปกติ ขณะที่ กรมอุทยานฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เตรียมติดตาม “ช้างไทย” ในต่างแดนที่ถูกส่งออกไปจะตรวจข้อมูลประวัติ-สืบข้อมูลแต่ละเชือกเพื่อติดตามว่าแต่มีสถานภาพ มีความเป็นอยู่อย่างไร
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang จ.ลำปาง ไลฟ์เฟซบุ๊กความเคลื่อนไหวของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างไทยทูตสันถวไมตรี ที่เดินทางกลับจากศรีลังกา โดยในช่วงเวลา 13.00 น.มีควาญช้างทั้ง 4 คนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งถืออยู่ในกักกันโรคเป็นวันที่ 6 ซึ่งพบว่ายังมีประชาชนทั้งคนไทย และต่างประเทศ เช่น เกาหลี ศรีลังกา และแถวยุโรป สนใจเข้ามารับชมความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ควาญช้างได้อาบน้ำให้พลายศักดิ์สุรินทร์ที่บริเวณคอกยืน พร้อมขัดงา ขัดเล็บ ขัดหาง และยกขาหลังให้ควาญช้างขัด ถือว่าต้องมีความไว้วางใจอย่างมากของช้างกับควาญ โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที และระหว่างอาบน้ำควาญได้นำหญ้าบาน่ามาให้กิน พร้อมด้วยอาหารเสริมเป็นมะขามเปียก ที่ใช้ป้อนยาให้กับช้างป่วยแล้วยังเป็นการช่วยระบบขับถ่ายให้ดีขึ้นด้วยพร้อมให้ขนมเป็นกล้วย อ้อย ข้าวโพดกับช้างจากนั้นพลายศักดิ์สุรินทร์ จะไปอาบทรายต่อ โดย พลายศักดิ์สุรินทร์อารมณ์ดี มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และคุ้นเคยกับควาญช้างไทยมากขึ้น ส่วนควาญช้างศรีลังกาได้เดินทางกลับแล้ว
ส่วนคำถามที่มาจากความเป็นห่วงเกี่ยวกับโอกาสการตกมันของพลายศักดิ์สุรินทร์นั้น ทีมสัตวแพทย์ ระบุว่า เป็นอาการปกติของช้างหนุ่มที่มีความสมบูรณ์ทางด้านร่างกายและฮอร์โมน เมื่อช้างได้รับอาหาร และพักผ่อนเพียงพอ จึงมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดตกมันช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ต้นฤดูหนาว ขณะนี้พลายศักดิ์สุรินทร์ ยังมีอาการปกติ แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจได้เฝ้าระวังสังเกตอาการระยะตกมันอย่างใกล้ชิด ดูจากช้างจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย สังเกตบริเวณดวงตาและใบหูจะกลมพองขึ้น ส่วนใหญ่ระยะตกมันจะเป็นในช้างเพศผู้ เบื้องต้นจะใช้ระยะเวลาตกมันประมาณ 4 - 5 เดือน หรือนานสุดครึ่งปี
ทางด้าน นายพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปยังวัด Sri Dalada Maligawa หรือวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี ตามคำเชิญของนาย Pradeep Nilanga Dela Nilame หัวหน้าไวยาวัจกรของวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วซึ่งเป็นสถานที่ดูแล พลายประตูผา หรือ Thai Raja โดยได้แจ้งให้นาย Pradeep ทราบว่าทางการไทยมีดำริที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับศรีลังกาในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงช้าง รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรอาทิ สัตวแพทย์และควาญ
จากนั้นนาย Pradeep และ Dr. Ashoka Dangolla หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ (Veterinary Clinical Science) ได้เชิญเอกอัครราชทูตไทยไปดูพลายประตูผาที่วัด Suduham Pola ซึ่งอยู่ในเมืองแคนดี ห่างจากวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วประมาณ 3 กิโลเมตร พบว่า “พลายประตูผา” อยู่ในบริเวณลานโล่งซึ่งเป็นลานปูนและลานดิน มีเชือกกั้นอาณาเขตบริเวณที่อยู่ ล่ามโซ่ขาหน้าสองขาติดกับต้นไม้ใหญ่สองต้นและล่ามโซ่ขาหลัง 1 ขา
จากการสังเกตพบว่า โซ่ขาหลังไม่ได้ตึงมากนัก มีระยะผ่อนได้ จากการที่ “พลายประตูผา” สามารถขยับตัวได้ในระดับหนึ่งและสามารถยืนในท่าทางธรรมชาติได้ซึ่งไม่ได้ถูกดึงรั้งจนเกินไป
ขณะนี้ พลายประตูผา อยู่ในช่วงตกมัน แต่ยังสามารถกินอาหาร ได้แก่ ใบปาล์ม kithul หญ้า อ้อย ได้ตามปกติ ในช่วงกว่า 30 นาทีที่สังเกตอาการ แม้มีผู้คนมากมาย แต่ “พลายประตูผา” ไม่ได้แสดงอาการดุดัน โดยควาญประจำตัวป้อนอาหารในระยะปลอดภัยได้เช่นเคย
เอกอัครราชทูตไทยได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนศรีลังกาในเวลาต่อมาว่า ทางการไทยไม่ได้มีความประสงค์ที่จะนำช้าง “พลายประตูผา” กลับประเทศไทย โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า ภารกิจส่ง “พลายศักดิ์สุรินทร์” หรือ Muthu Raja ไปรักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย ได้สร้างความตระหนักรู้อย่างยั่งยืนในเรื่องสิทธิ การเลี้ยงดูและดูแลรักษาช้างและสัตว์ประเภทอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้นในทั้งสองประเทศ จากนี้ไปเราคงจะต้องเน้นเรื่องการความร่วมมือในการทำงานร่วมกันสำหรับอนาคต
ขณะที่ นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ขณะนี้ทางกรมอุทยานฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้เตรียมติดตามช้างไทยในต่างแดนที่ถูกส่งออกไป ซึ่งมีข้อมูลเบื้องต้น 20 เชือกที่ส่งไปในนามทูตสันถวไมตรี ทั้งในศรีลังกา เดนมาร์ก ญี่ปุ่น สวีเดน ออสเตรเลีย โดยหลังจากนี้ ได้เตรียมดูข้อมูลประวัติ และสืบข้อมูลแต่ละเชือก เพื่อติดตามว่าแต่มีสถานภาพ มีความเป็นอยู่อย่างไร โดยจะต้องตีกรอบวางแนวทาง ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“กรมอุทยานฯ เกี่ยวข้องเรื่องใบอนุญาตการส่งออกช้างไปต่างประเทศ เพราะช้างอยู่ในบัญชี 1 อนุสัญญาไซเตส ชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์ ที่ผ่านมาไม่ได้มีการติดตามช้างไทยที่ถูกส่งไปในต่างแดนตั้งแต่ 20 ปีก่อนว่ามีสถานภาพมีความเป็นอยู่อย่างไร แต่เชื่อว่าหลายประเทศที่รับช้างไปจะมีการดูแลอย่างดี ส่วนกรณีช้างในศรีลังกา เป็นประเด็นเพราะมีการร้องเรียน” นายประเสริฐ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี