สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า-ประเทศไทย (RECOFTC-Thailand) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิชุมชนไท และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) สนับสนุนและขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ พอช. กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี 2561 ได้สนับสนุนโครงการ “ประชารัฐร่วมใจสร้างฝายมีชีวิต” เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ โดยใช้ “ฝายกั้นน้ำ” หรือ “ฝายชะลอน้ำ” เป็นวิธีหนึ่งในการช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดิน และเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แผ่นดิน
โดย พอช. ชุมชน ภาคีเครือข่ายรวมทั้งภาคเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฝายมีชีวิต ซึ่ง พอช.มีงบประมาณจำกัด จึงชวนภาคเอกชนที่สนใจมาร่วมโครงการ เช่น สนับสนุนงบประมาณปลูกป่า-สร้างฝายมีชีวิต ทำโครงการคาร์บอนเครดิตลดโลกร้อน รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนปลูกไม้มีค่า พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกต้นไม้ดีๆ ได้ประมาณ 200 ต้น ได้ต้นละ 2-3 หมื่นบาท จะได้มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท
“หาก 1 ชุมชนปลูก 1,000 ไร่ จะสร้างมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปใน 3 ปี ด้วยมือเรา และในอนาคตจะมีการต่อยอดในพื้นที่ป่าชายเลนที่สามารถจัดทำแผนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างพื้นที่สีเขียว ป่าไม้ประเทศไทยจะอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านก็จะอยู่ดีมีสุข” นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายเดโช ไชยทัพ ประธานคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิต พอช. กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต จะดำเนินกิจกรรมหลัก4 กิจกรรม 1.อนุรักษ์และแบ่งประเภทการใช้ประโยชน์ของป่าชุมชนและฝายมีชีวิต 2.บริหารจัดการน้ำของชุมชน 3.พัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนและเครือข่าย และ 4.ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนและฝายมีชีวิตบนฐานการบริหารการจัดทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น การเชื่อมโยงเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะใช้งบประมาณดำเนินการรวม 3,498,000 บาท
แต่จะสามารถตีเป็นมูลค่าการตอบแทนทางสังคมได้กว่า 21 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนปีที่ 1 และต่อยอดการดำเนินการของชุมชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออีกอย่างน้อย 5 ปี นอกจากนี้ จะสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น มีส่วนร่วมในการบริหารป่าชุมชนด้วยการสร้างอาชีพ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ และพัฒนาศักยภาพของชุมชน และเป็นส่วนหนุนเสริมให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกลับคืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
“คณะทำงานชุดนี้จะทำหน้าที่ส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมและอยากจัดตั้งป่าชุมชน รวมทั้งชุมชนที่จัดตั้งป่าชุมชนแล้ว จัดทำแผนจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต และใช้ประโยชน์จากป่าตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชนพ.ศ. 2562 เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องประมาณ 15 แห่งภายในปีนี้ และนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” นายเดโช กล่าว
นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของทิศทางดังกล่าว อยากเห็นชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่มาดูแลปกป้องและฟื้นฟูผืนป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 กรมป่าไม้ ได้ส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศแล้ว 12,117 แห่ง ชุมชนมีส่วนร่วม 13,855 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 6.64 ล้านไร่ จากการประเมินของกรมป่าไม้มีประชาชนได้รับประโยชน์จากป่า 3,948,675 ครัวเรือน
เกิดมูลค่าการพึ่งพิงป่าชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ จำนวน 4,907 ล้านบาท การกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าชุมชนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน รวม 42 ล้านตันคาร์บอน การกักเก็บน้ำในดินและการปล่อยน้ำท่า 4.562 ล้านลูกบาศก์เมตร และการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศของป่า 595,857 ล้านบาท กรมป่าไม้ตั้งเป้าสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มเป็น 15,000 แห่งทั่วประเทศ ชุมชนมีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 10 ล้านไร่ ในปี 2570
“และสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นคือ การพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวและให้บริการ ซึ่งต้องดำเนินการในรูปแบบกลุ่ม/วิสาหกิจชุมชน และต้องไม่ใช่การใช้ไม้หวงห้ามในพื้นที่ป่าสงวน เพื่อนำมาใช้ในการขายไม้ท่อน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชนจากฐานราก (BCG)” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสุขภาพประชาชน แต่ปัจจุบันโลกเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกจาก World Economic Forum เมื่อปี 2022 พบว่า ความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดใน3 อันดับแรกของโลกช่วง 10 ปีต่อจากนี้คือ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
ซึ่งจะเห็นได้ชัดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของไทยทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) คุณภาพอากาศเลวร้าย โดยเฉพาะภาคเหนือติดอันดับเมืองคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกหลายวันติดต่อกัน แนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพดังกล่าว “ป่าชุมชน” เป็นอีกหนึ่งของกลไกที่สามารถจัดการปัญหานี้ได้
“สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนตามฐานทรัพยากรของพื้นที่ รวมถึงหนุนเสริมกลไกบริหารจัดการด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการ พร้อมพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ให้เกิดการสร้างรายได้ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากป่าชุมชนคาร์บอนเครดิตให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของป่าที่มากกว่าสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสุขภาพอย่างยั่งยืนด้วย” นายชาติวุฒิ กล่าว
สำหรับพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) สนับสนุนและขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นความมุ่งมั่นร่วมกันสนับสนุนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตในพื้นที่ป่าชุมชน สร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตให้เกิดความยั่งยืนเสริมความเข้มแข็งชุมชน เสริมรายได้ครัวเรือน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนชุมชนที่จะขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนนำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมงานรวมกว่า 80 คน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี