ปลัด สธ.มอบทุกรพ.พิจารณาจัดบริการวันที่ 31 ก.ค.นี้ เพื่อลดผลกระทบประชาชน หลังครม.ประกาศเป็นวันหยุดยาว 6 วัน ขณะที่หลายรพ.ยังเปิดบริการผู้ป่วยตามปกติ หวั่นคนไข้ได้รับผลกระทบจากการเลื่อนนัด และกลายเป็นภาระงานต้องเพิ่มในสัปดาห์ถัดไป แนะอย่าประกาศหยุดแบบกระชั้นชิด
26 ก.ค.66 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เป็นวันหยุดพิเศษ เพื่อให้เกิดวันหยุดยาว 6 วันตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม ว่า ได้รับเสียงสะท้อนจากโรงพยาบาลหลายแห่งกังวลว่าจะกระทบประชาชนที่ต้องเลื่อนนัดตรวจหรือผ่าตัด จึงได้แจ้งไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนในสังกัดทั่วประเทศแล้วว่า ให้แต่ละแห่งพิจารณาจัดบริการแก่ประชาชนตามความเหมาะสมของบริบทและสถานการณ์แต่ละโรงพยาบาล ยึดหลักให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
“โรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถประกาศให้บริการตามปกติหรือเปิดบริการเฉพาะส่วนได้ และแจ้งให้บุคลากรและประชาชนรับทราบทั่วกัน โดยหากมีการจัดบริการในวันที่ 31 ก.ค.นี้ ก็ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบิกจ่ายค่าตอบแทนนอกเวลาราชการตามระเบียบ นอกจากนี้ ควรจัดให้มีทีมหรือผู้ดูแลหากเกิดปัญหาในการบริการไว้ด้วย” นพ.โอภาสกล่าว
ขณะที่รศ.นพ.ฉันทชาย สิทธิพันธุ์ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เข้าใจถึงเหตุผลของ ครม. แต่หลายอย่างการทำงานของโรงพยาบาล มีลักษณะการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ทุกโรงพยาบาลมีการนัดหมายคนไข้มานาน จึงหยุดไม่ได้ ในวันจันทร์ 31 ก.ค.นี้ แม้จะเข้าใจว่าวันจันทร์เป็นช่วงวันหยุดยาว คนอาจไม่ได้มาตามนัดหมายทั้งหมด อาจถือโอกาสหยุดยาว โดยที่ รพ.จุฬา ในวัน 31 ก.ค. มีการนัดหมายผ่าตัดใหญ่ 114 เคส มีการส่องกล้อง 86 เคส เอกซเรย์ 400 คน เคมีบำบัด 254 คน ผู้ป่วยนอกที่มีนัดหมาย 3,500 คน หากเป็นวันหยุดต้องมีการจัดเวรให้เหมาะสม เพื่อให้คนได้หยุด พอประกาศเป็นวันหยุดราชการ จะทำอย่างไร ผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งคนทำงาน และคนไข้ เพราะคนไข้เดิมอาจต้องเลื่อนนัด กลายเป็นการทำนัดใหม่ และกลายเป็นเบียดเบียนคนไข้ที่มีคิวนัดเดิม
"เรื่องนี้เจ้าหน้าที่กังวลมากกว่า คนไข้ เพราะไม่ได้อยากหยุด ส่วนเรื่องของโอที ไม่ได้มีการจ่าย โดยได้มีการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่เหมือนกับวันทำงานตามปกติ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กลัวว่า ถ้าหยุดจะมีปัญหามากกว่า ทั้งการจัดคิว และหากโรงพยาบาลหยุด คนไข้ที่มาไม่รู้ว่าหยุดจะทำอย่างไร ทั้งนี้เห็นว่า ควรกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำงาน ไม่ใช่การหยุดยาว"ผอ.รพ.จุฬาฯ ระบุ
ส่วนรศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ได้มีการหารือกับหน่วยบริการของ รพ.หลายหน่วยเห็นตรงกัน คือเปิดให้บริการตามปกติ ทาง รพ.มีระบบว่างสเกลการทำงานในช่วงวันหยุดและมีการจ่ายโอทีแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งเมื่อ ครม.ประกาศมาอย่างกะทันหัน และกระชั้นชิด หลายหน่วยบริการใน รพ.จึงเปิดบริการ เพราะส่วนใหญ่เห็นตรงกันถึงความลำบากของคนไข้ในการเลื่อนนัด เป็นปัญหาคนไข้สะสมตกค้างในสัปดาห์ถัดไป แต่ในส่วนของการผ่าตัด หรือเคมีบำบัด ได้ให้พิจารณาและคัดกรอง เหลือ 50% ในเคสที่จำเป็นเร่งด่วน ที่ผ่านมาช่วงเอเปก ก็รู้ล่วงหน้านานเป็นเดือน ทำให้สามารถบริการและจัดการเลื่อนนัดคนไข้ได้ ทุกอย่างก็ปกติ ขณะนี้กำลังเร่งทำประกาศแจ้งคนไข้ และเจ้าหน้าที่ใน รพ.
นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ กับ รพ.เล็งเห็นว่าจะมีปัญหากับผู้ป่วย เพราะนัดไปแล้วเลื่อนไม่ทัน และยิ่งเมื่อหยุดยาว พอเปิดราชการตามปกติจะแห่มารับบริการจำนวนมาก การบริการจะไม่เพียงพอ ดังนั้น คนไข้นัดมาแล้ว อย่างนัดผ่าตัด จึงเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้ รพ.มีการหารือกันกับรองแพทย์ กับองค์กรแพทย์ทั้งหมดว่าถ้าเปิดได้ก็ควรทำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย ส่วน รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 11 แห่ง เปิดให้บริการตามปกติ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี