นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท. 12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฅนพิจิตรอินทรีย์ ต.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร เป็นกลุ่มวิสาหกิจต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการผลิตข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล ผลผลิตของกลุ่มได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ได้แก่ มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหรัฐอเมริกา (USDA Organic),มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU) และมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์แคนาดา (Canada Organic Regime-COR) ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าในตลาดและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค สำหรับกลุ่มวิสาหกิจฯ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิก 16 ราย โดยมีนายสิทธา สุขกันท์ เป็นประธานกลุ่ม และยังเป็น young smart farmer จ.พิจิตร และประธานคลัสเตอร์ข้าวฅนอินทรีย์ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 3 ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจฯ มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 300 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ได้รับรองมาตรฐานแล้วประมาณ 200 ไร่ และอีก 100 ไร่ อยู่ระหว่างตรวจสอบแปลงให้เป็นไปตามมาตรฐาน
สถานการณ์การผลิตของกลุ่มวิสาหกิจฯ พื้นที่ปลูกที่ผ่านมาตรฐานเกษตรกรจะทำการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ปีละ 2 รอบการผลิต โดยพันธุ์ที่นิยมปลูก คือพันธุ์ชัยนาท 1 เนื่องจากมีปริมาณแป้งสูงเหมาะสำหรับการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปแบบเส้น สำหรับในปีเพาะปลูก 2565/66 พบว่า เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,747 บาท/ไร่/รอบการผลิต เกษตรกรเพาะปลูกรอบแรก ช่วงเดือนมิถุนายน เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกันยายน และรอบที่สองเพาะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 626 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 8,138 บาท/ไร่/รอบการผลิต และผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 3,391 บาท/ไร่/รอบการผลิต ซึ่งหากคิดเป็นผลตอบแทนของกลุ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 3,255,200 บาท/ปี
ด้านสถานการณ์ตลาด กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (MOU) กับบริษัท ลินมาร์ค จำกัด ที่มีสำนักงานในประเทศไทย และมีโรงงานตั้งอยู่ที่ จ.อำนาจเจริญ และเชียงใหม่ รับซื้อในราคา 13,000 บาท/ตัน หรือ 13 บาท/กิโลกรัม โดยกลุ่มวิสาหกิจฯ จะส่งผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดให้กับบริษัท เพื่อนำไปผลิตเป็นเส้นพาสตา เส้นราเมง และเส้นก๋วยเตี๋ยว ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศแถบทวีปยุโรป ซึ่งทางบริษัท ได้ชำระเงินร้อยละ 50 ของรายได้ที่กลุ่มจะได้รับที่กำหนดในสัญญา
ด้านการบริหารจัดการกลุ่มเพื่อความยั่งยืน กลุ่มวิสาหกิจฯ มีกลไกการขับเคลื่อนภารกิจและบริหารจัดการร่วมกัน มีการอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้และต่อยอดเป็นแนวปฏิบัติ ทั้งในเรื่องของมาตรฐานสากลเพื่อการส่งออก การจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรสมาชิกและเจ้าหน้าที่ จากบริษัทที่เป็นผู้ตรวจรับรองมาตรฐาน รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยและอ้อยคั้นน้ำเพิ่มเติมจากการปลูกข้าว เพื่อนำรายได้มาหมุนเวียนในครัวเรือนของสมาชิก สามารถนำผลผลิตมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่หลากหลายได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี