จี้เข้มความปลอดภัยหลังเหตุพลุระเบิด แม้ชุมชนมาทีหลังแต่ถ้าจำเป็นรัฐต้องจ่ายเยียวยาให้โรงงาน-โกดังย้ายออก
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ผศ.ดร.วิภู ศรีสืบสาย คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ประเด็นเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โกดังเก็บสินค้าดอกไม้เพลิง บ้านมูโนะ หมู่ที่ 1 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.ดนราธิวาส ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ดังนี้
1.ที่ผ่านมาจะมีข่าวเกิดเหตุต่อเนื่องอยู่เรื่อยๆ เรื่องโกดังเก็บพลุระเบิด เป็นสถานที่จัดเก็บบ้าง เป็นโรงงานผลิตบ้าง ในทางวิศวกรรมและความปลอดภัย โรงงานหรือสถานที่ที่เก็บวัตถุอันตรายเหล่านี้ควรมีลักษณะอย่างไร : เมื่อพูดถึงตัวอาคาร ซึ่งจริงๆ แบ่งได้ทั้งสถานที่ผลิตและสถานที่จัดเก็บ ซึ่งจะต่างกันเล็กน้อย แต่ตามหลักการแล้วต้องเป็นอาคารโล่ง ไม่มีชั้นลอย ผนังต้องไม่ติดไฟง่าย และต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิง ซึ่งจะมีเกณฑ์ระบุอยู่ เช่น พื้นที่เท่าไหร่ต้องมีถังดับเพลิงจำนวนกี่ถัง รวมถึงมีป้ายเตือนให้เห็นชัดเจนเรื่องการห้ามสูบบุหรี่หรือการทำสิ่งใดๆ ให้เกิดประกายไฟ แม้กระทั่งปลั๊กและสวิตซ์ไฟซึ่งเป็นอีกความเสี่ยงเกิดประกายไฟก็ต้องห้ามติดตั้งในบริเวณที่ทำการเก็บหรือผลิต เพราะต้องดูแลความปลอดภัยกับสารที่ไวต่อการระเบิด
2.จากเหตุล่าสุดที่ จ.นราธิวาส มีรายงานข่าวว่า น่าจะเกิดในขั้นตอนซ่อมบำรุงอาคาร ที่ประกายไฟจากการเชื่อมโลหะทำให้พลุที่เก็บกองอยู่เกิดระเบิดขึ้น จึงอยากขอคำแนะนำว่า อาคารโรงงานที่มีความเสี่ยงเหล่านี้เมื่อต้องซ่อมบำรุง ต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้างในการป้องกันการระเบิดอย่างไร : จริงๆ ก็เป็นข้อห้ามอยู่แล้วในการทำอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดประกายไฟในสถานที่ผลิตหรือเก็บพลุ-ดอกไม้ไฟ ดังนั้นหากจำเป็นต้องซ่อมบำรุงสถานที่ก็ต้องย้ายสิ่งของเหล่านั้นออกไปไว้ที่อื่นก่อนเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายขึ้น
3.คำถามนี้เป็นเรื่องผังเมืองมากกว่าวิศวกรรม คือบางครั้งโกดังเก็บพลุ หรือโรงงานผลิตพลุในตอนเริ่มก่อสร้างได้เลือกพื้นที่ห่างไกลจากชุมชน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชุมชนขยายมาใกล้โรงงานมากขึ้น ซึ่งจะคล้ายกับกรณีโรงงานสารเคมีหมิงตี้ ผู้ผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก เคยระเบิดที่ จ.สมุทรปราการ โรงงานนี้ตั้งขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ในยุคแรกรอบๆ โรงงานแทบไม่มีบ้านคน กระทั่งชุมชนเพิ่งจะมาหนาแน่นเอาตอน 10 ปีล่าสุด ลักษณะนี้ควรทำอย่างไร : เดิมเมืองยังไม่ขยายไป เขาก็ไปตั้งอยู่เพราะดูว่าไกลแล้ว ต่อมามีถนนตัดผ่านแล้วก็มีบ้านไปก่อสร้างอยู่ใกล้ๆ
ประเด็นนี้อย่างแรกเรื่องผังเมืองต้องชัดเจน เช่น เขตเกษตรกรรม เขตอุตสาหกรรม ฯลฯ อย่างที่สองหากเมืองขยายเข้าไปหาโรงงานจริงๆ ต้องมีการทำพื้นที่แนวกันชน เว้นระยะห่างระหว่างเมืองกับโรงงานเก็บวัตถุอันตราย โดยระยะควรเป็นเท่าไรอาจดูจากปริมาณการจัดเก็บวัตถุอันตรายตามที่โรงงานขออนุญาตไว้ ซึ่งแม้จะเกิดเหตุระเบิดขึ้นแต่ก็ลดความเสียหายลงได้
“จริงๆ ผมก็มองต่อไปว่า ถ้าเกิดเมืองมันขยายต่อไป โรงงานหรือโกดังพวกนี้ก็ควรจะต้องขยับออกไปตรงอื่น แต่ว่ารัฐเองก็จะต้องมีมาตรการให้เวลาเขาแล้วก็ช่วยเหลือด้วยในการที่เขาจะต้องย้ายไปสร้างใหม่ มีค่าใช้จ่ายก็ต้องมีการ Subsidize (อุดหนุน) อะไรบางอย่างเพื่อจะช่วยผู้ประกอบการด้วย แต่มันก็จะทำให้ปลอดภัยขึ้นนั่นเอง มันก็จะมีทั้งแผนที่คุมเรื่องผังเมืองกับการที่จะย้ายในภายหลังด้วย” ผศ.ดร.วิภู กล่าว
4.ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม การควบคุมสารอันตราย การจัดเก็บพลุ –วัตถุดิบ การค้า และการผลิต : จริงๆ ในภาพรวมสิ่งเหล่านี้มีเกณฑ์ควบคุมอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะปล่อยปละละเลยกัน จึงควรมีการอบรมอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงอันตรายอยู่ตลอดเวลาเพราะเป็นวัตถุหรือสารอันตรายที่สามารถระเบิดได้ สิ่งใดก็ตามที่ก่อให้เกิดประกายไฟจึงไม่สามารถให้อยู่ใกล้ๆ ได้เลย แม้กระทั่งพื้นที่รอบโรงงานก็ไม่ควรให้มีหญ้าขึ้นรกเพราะอาจเกิดไฟไหม้และลามเข้ามายังโรงงานได้ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบก็ต้องหมั่นเข้าไปตรวจสอบเพื่อลดอุบัติเหตุ
5.คิดว่าจะเป็นเรื่องยากหรือไม่ในการดูแล เพราะหากเปรียบเทียบกันแล้ว โรงงานเก็บสารเคมีมักมีวิศวกรหรือเจ้าหน้าที่ที่มีคุณวุฒิวิชาชีพเป็นผู้ดูแล ในขณะที่โรงงานดอกไม้ไฟหลายครั้งเป็นอุตสาหกรรมเล็กๆ ในครัวเรือน : เรื่องนี้ต้องช่วยกัน เพราะแม้จะเป็นโรงงานเล็กๆ แต่การทำพลุ-ดอกไม้ไฟ ต้องทำโดยคนที่มีความรู้ หากไม่มีความรู้หรือปล่อยปละละเลย ก็จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น
“มันไม่ใช่เหตุการณ์แรก ก่อนหน้านี้ก็มีที่เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ แล้วก่อนหน้านั้นก็มีมากกว่า 20 เหตุการณ์ ลักษณะเดียวกันหมดเลยก็คือมีประกายไฟ มีบุหรี่ มันก็ระเบิดหมด ทุกทีพอระบิดมันก็เป็นปัญหา เป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ก็ต้องเข้มงวดกัน” ผศ.ดร.วิภู กล่าวในตอนท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ระทึก! โรงงานดอกไม้ไฟเชียงใหม่ระเบิด บาดเจ็บ 11 ราย
- ออกหมายจับ เจ้าของโกดังพลุมูโนะ จ.นราธิวาส เหตุไม่มาตามหมายเรียก
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี