จากสถานการณ์ที่มีฝนตกลงมาในพื้นที่จังหวัดนครพนมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำสะสม น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ถนนชำรุด รวมถึงพื้นที่การเกษตรเสียหาย โดยมีรายงานว่าหลายหมู่บ้าน ในพื้นที่อำเภอรอบนอก ประสบอุทกภัยน้ำท่วมแล้วหลายตำบล ในขณะเดียวกันในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ก็เริ่มจะมีน้ำท่วมขังบนถนนหลายสาย เนื่องจากภูมิศาสตร์ของเขตเทศบาลฯ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ การระบายน้ำจึงเป็นปัญหามาทุกปี
ดังนั้น นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ ปลัดจังหวัดฯ และนายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีฯได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อม ในการเตรียมการรับสถานการณ์น้ำของเทศบาลเมืองนครพนม โดยดูการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่สาธารณภัยเทศบาลฯ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำโขง ด้วยเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวน 4 จุดที่กระจายอยู่ตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำดีเซลเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 จุด เพื่อเร่งช่วยระบายปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ เบื้องต้นระบบการระบายน้ำจากท่อยังเป็นไปด้วยดี
จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมได้เชิญคณะหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประชุม เพื่อร่วมกันหารือผ่าน ระบบ VDO Conference กับนายอำเภอทั้ง 12 อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการติดตามสถานการณ์และข้อมูลด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร สาธารณสุข ชลประทาน คมนาคม สาธารณูปโภค (ไฟฟ้า/ประปา) และแนวทางการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่กำลังดำเนินอยู่ เพื่อร่วมกันวางแผนเร่งแก้ไขปัญหาในส่วนต่าง ๆ ให้กับเข้าสู่สถานการณ์การปกติโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดนครพนมมี 3 อำเภอที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเขตโซนใต้ อ.นาแก ถนนเพื่อการเกษตรถูกน้ำกัดเซาะขาด 1 เส้น รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ส่วนที่ อ.ธาตุพนม ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำช่วงปลายทาง เกิดน้ำท่วมขังรอการระบายลงสู่แม่น้ำโขง ด้านโซนเหนือ อ.ท่าอุเทน ถนนเชื่อมหมู่บ้าน 2 เส้นถูกน้ำกัดเซาะขาด ยานพาหนะไม่สามารถสัญจรไปมาได้
เบื้องต้นจากการตรวจสอบทั้งจังหวัดนครพนมมีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบประมาณ 3,500 ไร่ ถนนขาด 4 สาย โดยยังไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ส่วนระดับน้ำยังคงทรงตัว อย่างไรก็ดีได้มีการกำชับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ
โดยขอให้สร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการรับข้อมูลและแนวทางการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย เช่น พื้นที่เสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชน แนวทางการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การนำสะพานชั่วคราวออกให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ การก่อสร้างบล็อคคอนเวิร์สที่มีความมั่นคงถาวรเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในระยะยาว การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบตามระเบียบของทางราชการ - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี