ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินของรัฐที่อนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์เท่านั้น ไม่สามารถส่งมอบเป็นมรดกให้กับทายาทได้” อย่างไรก็ตาม “หากทายาทมีความประสงค์จะขอรับการจัดที่ดินต่อจากเกษตรกรผู้ถึงแก่ความตาย ต้องใช้สิทธิยื่นคำขอต่อ ส.ป.ก. ภายในระยะเวลาที่กำหนด” โดยนิยามของคำว่า “ทายาท” ในที่นี้ ได้แก่ 1. คู่สมรส (ผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับเกษตรกร ทั้งที่จดทะเบียนสมรสและไม่จดทะเบียนสมรส) 2. ผู้สืบสันดาน ได้แก่ 2.1 ลูก หลาน เหลน และผู้สืบสายโลหิตโดยตรงจนสุดสาย 2.2 บุตรบุญธรรมที่จดทะเบียน และ 2.3 บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว 3. บิดามารดา (ไม่รวมถึงบิดาที่ให้การรับรองบุตรนอกกฎหมาย และผู้รับบุตรบุญธรรม) 4. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (พ่อแม่เดียวกัน) 5. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (พี่น้องคนละพ่อ หรือคนละแม่) 6. ปู่ ย่า ตา ยาย และ 7. ลุง ป้า น้า อา
โดย “เอกสารสำหรับใช้เป็นหลักฐานยื่นคำขอ” ประกอบด้วย 1. บัตรประจำตัวประชาชนของทายาทผู้ยื่นคำขอ 2. ทะเบียนบ้านของทายาทผู้ยื่นคำขอ 3. ใบมรณบัตรของเกษตรกรผู้ถึงแก่ความตาย และ 4. สัญญาเช่าสัญญาเช่าซื้อ หรือ ส.ป.ก. 4-01 ของเกษตรกรผู้ถึงแก่ความตาย (ถ้ามี) ทั้งนี้ สำหรับ “ทายาทผู้ยื่นคำขอที่มีคู่สมรส ให้คู่สมรสเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้วย” เพื่อบันทึกถ้อยคำในการสอบสวนสิทธิ
แต่ “หากคู่สมรสของทายาทผู้ยื่น คำขอไม่สามารถเข้าพบเจ้าหน้าที่ได้” ให้ผู้ยื่นคำขอนำหลักฐานของคู่สมรส ได้แก่ 1. หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่รับรองสำเนาถูกต้อง 2. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง 3. หนังสือให้ความยินยอมเก็บรวบรวม ใช้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับดำเนินการตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งลงลายมือชื่อให้ความยินยอมของคู่สมรส และ 4. ทะเบียนสมรส (ถ้ามี) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อประกอบการสอบสวนสิทธิ
อนึ่ง “กรณีเป็นทายาทที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแต่มีความจำเป็นต้องประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ และมีความสามารถหรือประสบการณ์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม” มีสิทธิยื่นคำขอเพื่อรับการจัดที่ดินต่อจากเกษตรกรผู้ถึงแก่ความตายได้
โดย “ระยะเวลายื่นคำขอ” จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กรณีเกษตรกรถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ให้ยื่นคำขอภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 กับ 2. กรณีเกษตรกรถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ให้ยื่นคำขอภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เกษตรกรถึงแก่ความตาย หรือภายใน 2 ปี นับแต่วันที่เกษตรกรถึงแก่ความตายหากมีเหตุอันสมควร (คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีมติให้ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอไปจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2567)
สำหรับ “ช่องทางการยื่นคำขอ” มีดังนี้ 1. ส.ป.ก. จังหวัด ที่ที่ดินตั้งอยู่ กับ 2. เว็บไซต์ศูนย์บริการประชาชนออนไลน์ ส.ป.ก. (https://servicecenter.alro.go.th/)
ทั้งนี้ “ทายาท (ผู้ยื่นคำขอ) จะได้รับการจัดที่ดินก็ต่อเมื่อเป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรตามที่กฎหมายกำหนด” โดยหากทายาทไม่ยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนด ส.ป.ก. จะนำที่ดินกลับมาดำเนินการจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินที่ขึ้นทะเบียนขอรับที่ดินตามกฎหมายและระเบียบต่อไป และต้องย้ำว่า “การซื้อ-ขายที่ดิน ส.ป.ก. เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย” อีกทั้งหากเกษตรกรผู้ใดขายที่ดิน ส.ป.ก. ก่อนเสียชีวิต ทายาทก็จะไม่มีสิทธิได้รับการจัดที่ดินดังกล่าวด้วย!!!
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี