สงขลาพบผู้ป่วยรายแรก
โรคฝีดาษวานร
สัมผัสใกล้ชิด48ราย
ใช้มาตรการคุมเข้ม
รบ.เตือนภัยโรคซิกา
แพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก
จังหวัดสงขลา พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานรรายแรก อาการไม่รุนแรง ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดมีจำนวน 48 คน โดยทางจังหวัดได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขด้านรองโฆษกรัฐบาลเผย สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในไทย พบผู้ป่วยครบทุกภาค กรมควบคุมโรคแนะแม่ตั้งครรภ์ ระวังยุงลายกัดแพร่เชื้อ ทารกเสี่ยงพัฒนาการช้า ย้ำช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ถูกกัด
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา พบผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานรรายแรก เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 31 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดสงขลา ประวัติเริ่มป่วย เมื่อวันที่ 7 ส.ค. เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. จนถึงปัจจุบัน และวันที่ 17 ส.ค. ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัส Monkeypox โดยมาตรการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และหน่วยงานในสังกัดฯ ในพื้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ 1.แยกผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ห้องแยกโรค ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. จนถึงปัจจุบัน 2.ค้นหาผู้สัมผัสผู้ป่วย พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1 ราย เสี่ยงต่ำ 1 ราย ผู้สัมผัสใกล้ชิดไม่มีความเสี่ยง 48 ราย และให้คำแนะนำการสังเกตอาการตนเองและการปฏิบัติตัวแก่ผู้สัมผัส 3.จัดการสิ่งแวดล้อมโดยการทำลายเชื้อในบริเวณที่ปนเปื้อน 4.ให้คำแนะนำด้านการดูแลร่างกาย จิตใจ ทั้งผู้ป่วยและญาติที่ใกล้ชิด
สำหรับมาตรการที่กำลังดำเนินการ ได้แก่ 1.ติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ ตามแนวทางกรมควบคุมโรค เป็นเวลา 21 วันและเก็บตัวอย่างเพิ่มกรณีผู้สัมผัสที่มีอาการ และกลุ่มเสี่ยงสูง เมื่อครบ 21 วัน 2.สื่อสาร สร้างความเข้าใจ และตระหนักสิทธิผู้ป่วยและญาติ 3.ทำความสะอาดตามแนวทางกรมควบคุมโรค ที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม 4.ประสานแจ้งข้อมูลแก่พื้นที่ที่ผู้ป่วยทำงาน 5.เยียวยาจิตใจ (MCATT) ดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติ
นพ.สงกรานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 8 ส.ค.2566 มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร รวมจำนวน 189 ราย เป็นสัญชาติไทย 161 ราย ชาวต่างชาติ 28 ราย มีแนวโน้มระบาด ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยจำนวน 82 ราย (ร้อยละ 43) และพบว่าปัจจัยเสี่ยงคือการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักที่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร
สำหรับผู้ที่มีประวัติพฤติกรรมเสี่ยงนั้น การตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีผื่น/ตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือผู้ป่วยฝีดาษวานร ภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ บริเวณรอบ ๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงประกอบการวินิจฉัย ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานรสามารถป้องกันได้โดย งดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรณีสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ในสัปดาห์ที่ 31 คือ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.ถึง 9 ส.ค. 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 172 ราย อัตราป่วย 0.26 ต่อประชากรแสนคน ไม่พบผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยครบทุกภาค กระจายใน 21 จังหวัด โดยพบอัตราป่วยสูงสุดในภาคกลาง รองลงมา คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกคำเตือนในช่วงนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลาย เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ก่อให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งโรคติดเชื้อไวรัสซิกานี้ สามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ เป็นโรคที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด เพราะหากแม่ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว อาจส่งผลให้เด็กที่คลอดออกมามีความผิดปกติ
นางสาวรัชดา กล่าวถึงข้อมูลกรมควบคุมโรคระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นแดงตามลำตัวและแขนขา มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาแดง และสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ ทารกเกิดความพิการทางสมองและระบบประสาท ส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า เป็นต้น โดยกรมควบคุมโรคแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด ไปฝากครรภ์ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์จนกว่าจะคลอด หากตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสซิกาต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสูตินรีแพทย์
นางสาวรัชดา กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและในชุมชน โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 2.เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและชุมชน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 3. เก็บน้ำ เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด รวมถึงการป้องกันตนเองด้วยการทายากันยุง และนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และขอให้สังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ได้แก่ แอสไพริน และไอบูโพรเฟนมารับประทาน และให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี