สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มีภารกิจด้านการจัดการที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร ได้เข้าร่วมโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 หรือ “One Map” เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดิน ส.ป.ก.กับหน่วยงานอื่นๆ จนกลายเป็นข้อพิพาทเมื่อรัฐกล่าวหาประชาชนบุกรุก ส่วนประชาชนก็โต้แย้งว่ามีสิทธิในพื้นที่ทำกินนั้นอย่างถูกต้อง สืบเนื่องจากที่ผ่านมา มีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับที่ดิน และแต่ละหน่วยงานใช้แผนที่อัตราส่วนแตกต่างกัน
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบแนวทาการแก้ไขปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) นำเสนอ โดยให้ใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ.2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดปราจีนบุรี และเห็นชอบการดำเนินงานในพื้นที่ที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก.ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกิน
และขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และ ส.ป.ก.ยืนยันหลักหมุดแนวเขต พ.ศ.2543 ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพื้นที่ทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานกับ ส.ป.ก.มี 3 โครงการ คือ 1.โครงการป่าวังน้ำเขียว แปลงที่ 1 จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 476 แปลง เนื้อที่ 7,079.84 ไร่ (คำนวณจาก Shape File) 2.โครงการป่าวังน้ำเขียวแปลงที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา กับ จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 387 แปลง เนื้อที่ 3,558 ไร่ และ 3.โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (พมพ.) ตามมติ ครม.วันที่ 2 มีนาคม 2525 โครงการป่า คจก.จำนวน 3,415 แปลง เนื้อที่ 24,128.40 ไร่
สำหรับแนวทางการจัดที่ดินโดย ส.ป.ก.หลังการรับมอบพื้นที่จากกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ มีดังนี้ 1.การประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้ประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินครอบคลุมทั้งอำเภอ ซึ่งต้องปรับปรุงพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินครอบคลุมทั้งอำเภอให้เหลือเฉพาะเขตดำเนินการ จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.1 พระราชกฤษฎีการกำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่กิ่งอำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2518
1.2 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย และอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2521 ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอวังน้ำเขียว (แยกมาจากอำเภอปักธงชัย) 1.3 พระราชกฤษฎีการกำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2531 และ 1.4 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2531
2.การจัดที่ดิน โดยต้องดำเนินการตามสภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินของพื้นที่ กล่าวคือในพื้นที่เกษตรกรรม สามารถจัดที่ดินให้เกษตรกรตามระเบียบบ คปก.ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564
ในกรณีที่พื้นที่มีการประกอบประเภทกิจการอย่างอื่นนอกเหนือจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ก็ควรเร่งสำรวจพื้นที่เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศ คปก.เรื่องการจัดที่ดินชุมชนในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ควรเร่งดำเนินการกำหนดให้เป็นเขตชุมชน และเร่งสำรวจประเภทกิจการที่อยู่ภายในชุมชน หากเป็นประเภทกิจการตามประกาศ คปก.อยู่แล้วก็อนุญาตตามระเบียบ คปก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตและการให้ผู้รับอนุญาตถือปฏิบัติในการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์สำหรับกิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2541
อย่างไรก็ตาม กิจการที่ยังไม่อยู่ในประกาศของ คปก.หากจังหวัดเห็นว่าสมควรและจำเป็นก็สามารถยื่นคำขออนุญาตมายัง คปก.เพื่อพิจารณาได้เป็นรายกิจกรรมต่อไปได้ สำหรับการจัดที่ดินสาธารณูปโภคต่างๆ ตามระเบียบ คปก.ว่าด้วยว่าด้วยการมอบหมายให้เลขาธิการ ส.ป.ก.พิจารณาอนุญาตใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่นๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2536 ได้
สรุป การดำเนินการแก้ไขปัญหาทับซ้อนกันของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานกับพื้นที่ปฏิรูปที่ดินในเชิงนโยบายโดยการจัดทำ One Map ส.ป.ก.ได้รับที่ดินเพิ่มเติมและต้องนำพื้นที่ดังกล่าวมาดำเนินการตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินก่อน ทั้งนี้ พื้นที่ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตที่กฎหมาย ส.ป.ก.กำหนดให้ดำเนินการได้ รัฐอาจต้องใช้อำนาจบริหารเพื่อตัดสินว่าที่ดินที่คงเหลือเหล่านั้นจะดำเนินการต่ออย่างไร!!! (ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘One Map’กับการแก้ปัญหาข้อพิพาท พื้นที่ทับซ้อน‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’)
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี