มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดโครงการ “มข.ส่งเสริมชุมชนเคียงมอน่าอยู่” ณ โรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม ชุมชนสามเหลี่ยม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมหรือสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยให้เกิดสังคมน่าอยู่ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน และเป็นการสร้างความยั่งยืน ด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคม ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2563-2566 ตามยุทธศาสตร์ที่ การปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการ จากความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) สู่การสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating shared value : CSV)
ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความสำคัญกับชุมชนข้างเคียงมาโดยตลอด ซึ่งในโอกาสวาระพิเศษครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงจัดโครงการ มข.ส่งเสริมชุมชนเคียงมอน่าอยู่ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนเคียงมอ และส่งเสริมการบริการวิชาการสู่สังคมที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ต่อชุมชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ชุมชนสามเหลี่ยม นับเป็นชุมชนต้นแบบแห่งแรก ที่ได้เข้ามาส่งเสริมการสร้าง ต้นแบบการแยกขยะ
โดยมีโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และปลูกฝังเยาวชน ในจัดการขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียกในครัวเรือน
ด้วยวิธีการหมักปุ๋ย เพื่อลดปริมาณขยะลง ให้สามารถต่อยอดการแยกขยะเปียกระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ พี่น้องประชาชนจะสามารถนำความรู้เหล่านี้นำไปปฏิบัติที่บ้าน ซึ่งโครงการดีๆเช่นนี้มหาวิทยาลัยจะพยายามทำอย่างต่อเนื่อง
สมชาติ ชัยอยุทธ์ ประธานชุมชนสามเหลี่ยม 3 กล่าวถึงความต้องการของชุมชนและแนวทางการพัฒนาชุมชน ว่า ชุมชนสามเหลี่ยม 3 ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียน และมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นอย่างดีมาโดยตลอด สำหรับปัญหาของชุมชนระยะหลัง เป็นปัญหาขยะมูลฝอยล้น ขณะเดียวกันรถจัดเก็บขนขยะทางเทศบาล ไม่สามารถมาเก็บตามกำหนดระยะเวลา สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านมาโดยตลอด
แม้ว่าเทศบาลจะพยายามจัดซื้อรถขยะมาเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่สามารถจัดหามาได้เพียงพอ ทำให้ชุมชนต้องทบทวนถึงวิธีการกำจัดขยะตั้งแต่ระดับครัวเรือน จึงได้แลกเปลี่ยนปัญหาของชุมชนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทราบ หลังจากนั้นจึงได้รับความ ร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมาทำโครงการครั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนรู้จักวิธีแก้ไข ปัญหาขยะภายในครัวเรือนด้วยตนเอง ซึ่งจะสามารถสร้างความยั่งยืนในการกำจัดขยะให้กับชุมชนและนำไปสู่ปัญหาขยะที่ลดลงต่อไป
ผศ.ดร.ธนภัทร์สกรณ์ สุกิจประภานนท์ เปิดเผยว่า โดยทั่วไปขยะครัวเรือนจะมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเศษพลาสติก โลหะ รวมไปถึงกลุ่มขยะอินทรีย์ ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยหมัก ใช้สำหรับปลูกผัก ใส่ต้นไม้ และยังเป็นการช่วยจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ลดต้นทุนด้านแรงงานไปด้วย โดยปกติเวลาเราทิ้งขยะ เทศบาลในแต่ละชุมชนจะมาจัดเก็บไป ต่อจากนั้นต้องมีการแยกขยะ การจัดการตรงจุดนี้จะมีต้นทุน
แต่ถ้าประชาชนแต่ละครัวเรือนมีการคัดแยกขยะเปียก เศษอินทรีย์ หากมองในภาพกว้าง เราจะสามารถลดต้นทุนและแรงงานในกระบวนการนี้ได้อย่างมาก ในการทำปุ๋ยอินทรีย์ ถ้าเป็นการใช้เองในระดับครัวเรือน จะไม่มีสูตรตายตัวขั้นตอนจะเริ่มที่ นำเศษอินทรีย์ ใบไม้ หรือเศษอาหารต่างๆ มาเทในที่ๆ จัดเตรียมไว้ต่อจากนั้นจะใส่ปุ๋ยคอก หรือมูลสัตว์เพื่อให้เกิดการย่อยสลาย แต่บางครั้งมูลสัตว์เลี้ยงอาจจะใช้ไม่ได้เพราะว่ามีปัญหาเรื่องกลิ่น และเติมน้ำเข้าไปเพื่อให้มีความชื้น
โดยสำหรับระยะในการย่อยสลาย ใบไม้แห้งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน เศษผักผลไม้สด ใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นกิ่งไม้จะต้องสับให้ชิ้นเล็กก่อน และ หมักทิ้งระยะเวลาไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็สามารถนำส่วนที่ย่อยสลายมาใช้เป็นปุ๋ยได้ จากการศึกษาวิจัยด้านการจัดการอินทรีย์วัตถุหลายชนิด พบว่า การทำปุ๋ยหมักที่มีการใส่ใบไม้แห้ง จะช่วยส่งผลให้สมบัติทางเคมี ฟิสิกส์ ของดิน มีความร่วนซุยอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกดินทรายก็สามารถ ดูดซับปุ๋ยได้มากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี