กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันความร่วมมือนโยบายด้านความมั่นคงอาหารต่อเนื่อง หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพหลักการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ณ ประจวบคีรีขันธ์ ล่าสุด มอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเวทีประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 8 (Food Security Ministerial Meeting: FSMM) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ณ เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สำหรับการเข้าร่วมประชุม FSMM ครั้งนี้ ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี Mr. Thomas J. Vilsack รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบเอกสารหลักการเพื่อการบรรลุความมั่นคงอาหารผ่านระบบการเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเปค ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ
1) ระบบการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น ควรส่งเสริมการสร้างความมั่นคงอาหาร การรักษาสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวิถีชีวิตที่ยั่งยืน และคำนึงถึงผลประโยชน์ทางสังคมสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและในอนาคต 2) นโยบายเพื่อพัฒนาความยั่งยืนและความยืดหยุ่นในระบบการเกษตรและอาหารที่แตกต่างกัน ควรตอบสนองต่อลักษณะเฉพาะและบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละเศรษฐกิจ 3) การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรและอาหารของเอเปคไปสู่ความยั่งยืนและความยืดหยุ่น ควรใช้กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและออกกฎระเบียบที่อ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ปัจจัยเสี่ยง และคำนึงถึงมาตรฐานสากล และ 4) ระบบการค้า พหุภาคี และตลาดที่โปร่งใส คาดการณ์ได้ เปิดกว้างและยุติธรรม มีความสำคัญต่อความมั่นคงอาหารในระดับภูมิภาคและระดับโลก
นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์ประธานการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร ครั้งที่ 8 โดยเน้นย้ำการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ ปี พ.ศ.2573 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนความเชื่อมโยง นวัตกรรม และความยั่งยืนของระบบการเกษตรและอาหาร การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหาร รวมถึงความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง
โอกาสนี้ เลขาธิการ สศก.ได้กล่าวสนับสนุนหลักการเพื่อการบรรลุความมั่นคงอาหารผ่านระบบการเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเปค ซึ่งเน้นความสำคัญของความร่วมมือกัน และการประสานงานกันระหว่างเขตเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายของระบบการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันในภูมิภาคเอเปค โดยเฉพาะในหลักการที่ 4 ซึ่งไทยสนับสนุนการส่งเสริมบทบาทของระบบการค้าพหุภาคีที่โปร่งใส เปิดกว้างและเป็นธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดการค้าที่เสรีและเป็นธรรม สนับสนุนการค้าอาหารที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในภูมิภาค ตลอดจนกล่าวสนับสนุนแถลงการณ์ประธานการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร ครั้งที่ 8 ดังกล่าว ซึ่งมีความสอดคล้องกับแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร ครั้งที่ 7 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ที่มุ่งเน้นการยกระดับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี สร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชน ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ส่งเสริมการเข้าถึงตลาด และการอำนวยความสะดวกทางการค้า พร้อมเน้นย้ำว่า “ความมั่นคงอาหารเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ และไทยยินดีให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันเพื่อให้ความมั่นคงอาหารของโลกเพิ่มขึ้น และสนับสนุนความร่วมมือในรูปแบบหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นรูปธรรม มุ่งสู่ผลลัพธ์ในการบรรลุด้านความมั่นคงอาหาร”
นอกจากนี้ เลขาธิการ สศก.ยังได้ถูกเชิญให้เป็น Speaker นำเสนอนโยบายด้านเกษตรที่มุ่งเน้นรับมือของภาคเกษตรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความมั่นคงอาหาร และการส่งเสริมการค้าสินค้าอาหาร โดยเน้นแนวทาง 3 แนวทาง เพื่อรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การลดและป้องกัน การปรับตัว และการใช้เทคโนโลยี เช่น การปลูกป่า การลดการเผา การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การลดการใช้สารเคมี การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ทนแล้งและน้ำท่วม การเลี้ยงปลาในนาข้าว แก้มลิง พยากรณ์ผลผลิต การจัดทำระบบเตือนภัย เป็นต้น โดยในส่วนของนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร ไทยได้จัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด เพื่อบริหารจัดการความมั่นคงอาหารในระดับพื้นที่ โดยปฏิทินจะแสดงผลความพอเพียงของหมู่โภชนการ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน เอ ซี อี เหล็ก แคลเซียม โปตัสเซียม และยังส่งเสริมการสร้างรายได้ของเกษตรกร ด้วยการจำหน่ายเศษวัสดุเหลือใช้เพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ หรือไบโอชาร์ ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG อีกทั้งยังสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ความปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมการให้ความรู้ด้านโภชนาการให้กับประชาชน ขณะที่ด้านการส่งเสริมการค้า ไทยพร้อมสนับสนุนหลักการค้าภายใต้ระบบการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก และส่งเสริมการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอาหารผ่านกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรีร่วมกัน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี