กรมอุตุฯเตือน อิทธิพลมรสุม ทั่วไทย 61 จว.รับมือฝนตกหนัก เสี่ยงน้ำท่วม น้ำป่า ด้านศูนย์ธรณีพิบัติภัยฯ แจ้ง 13 จังหวัด เสี่ยงดินถล่มถึง 17 กันยายนนี้มุกดาหารอ่วมน้ำป่าทะลักท่วมส่วนยโสธรเขื่อนฯปักธงแดง หลังจากน้ำชีวิกฤตเพิ่มสูง
เมื่อวันที่ 15 กันยายน กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศว่า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักและมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้
สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน คลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งที่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งที่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งที่ จ.อุทัยธานี นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งที่ จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งที่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งที่ จ.ระนอง พังงา และสตูล ตั้งแต่ จ.พังงา ขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.ภูเก็ต ลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ส่วน กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ด้านศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี แจ้งให้อาสาสมัครเครือข่ายในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี เลย จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา เฝ้าระวังภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 15-17 กันยายน 2566 พร้อมทั้งขอให้เครือข่ายฯ วัดปริมาณน้ำฝนและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
วันเดียวกัน ที่ จ.มุกดาหาร ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่าหลังจากเกิดฝนตกต่อเนื่อง ทำให้น้ำป่าไหลหลาก โดยที่ อ.ดงหลวง น้ำท่วมถนนจนถึง อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ หลายช่วง ระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตร-1 เมตร รถยนต์ไม่สามารถผ่านไปมาได้ เช่น ที่บ้านติ้ว บ้านนาหลัก บ้านมะนาว ต.พังแดง บ้านโพนไฮ อ.ดงหลวง นอกจากนี้ยังเข้าท่วมโรงเรียนบ้านนาหลัก ไร่นาและบ้านเรือนชาวบ้านที่ลุ่มต่ำ
นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มุกดาหาร พร้อมด้วยนายนราวิชญ์ มณีฤทธิ์ นายอำเภอดงหลวง นายบรรจง ไชยเพชร นายกเทศมนตรี ต.หนองแคน นำกำลังเจ้าหน้าที่ ส่งเรือท้องแบน เข้าให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่มีความจำเป็นต้องสัญจรในกรณีฉุกเฉิน ส่วนผู้อาศัยใกล้กับที่ลาดเชิงเขาและริมตลิ่ง ให้ระวังน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม โดยขอให้อพยพไปยังที่ปลอดภัย
ที่ จ.ยโสธร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำชี มีปริมาณสูงขึ้น เนื่องจากมวลน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลมาสมทบ ประกอบกับปริมาณน้ำในลำน้ำสาขา มีต้นน้ำจากเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร และ จ.กาฬสินธุ์ ไหลลงมาเติม ส่งผลให้เขื่อนยโสธร-พนมไพร ซึ่งกั้นแม่น้ำชี ในพื้นที่ ต.เขื่องคำ อ.เมือง จ.ยโสธร เพิ่มระดับสูง จนต้องปักธงแดง แจ้งเตือนระดับน้ำอยู่ในขั้นวิกฤต ขอให้ประชาชนเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูงและระวังอันตรายที่เกิดจากน้ำท่วม รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนตามแนวตลิ่งแม่น้ำชี ให้เฝ้าระวังน้ำท่วม
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำชี ที่เขื่อนยโสธร-พนมไพร เกินระดับกักเก็บแล้ว โดยปริมาณน้ำหน้าเขื่อน อยู่ที่ 126.15 เมตร เพิ่มขึ้น 20 เซนติเมตร ท้ายเขื่อน 125.05 เมตร เพิ่มขึ้น 35 เซนติเมตร ซึ่งมีการเปิดบานประตูระบายน้ำ ทั้ง 8 บาน ยกสูง 3 เมตร โดยความจุเขื่อนกักเก็บ 23.35 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 119.990 ของความจุ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 975.585 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 84.290 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ปริมาณน้ำฝน 15 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำชี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก
ส่วนสถานการณ์น้ำตลอดแนวลุ่มน้ำชี ช่วงที่ไหลผ่าน จ.ยโสธร พบว่ามีปริมาณน้ำบางส่วนเริ่มไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ แนวตลิ่งแม่น้ำชี แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อชุมชนเมือง หรือบ้านเรือนของประชาชนแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ทางเขื่อนยโสธรฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนตรวจสอบริมตลิ่งแม่น้ำชีตลอดแนว เพื่อตรวจสอบดูว่ามีตลิ่งหรือพนังกั้นน้ำจุดไหนที่มีความเสี่ยงต่อการพังทลาย โดยเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี