“ชัชชาติ” เผยเป็นครั้งแรก! ตั้งคณะทำงานฯพัฒนากทม. 7 คน นายกฯนั่งประธาน กำหนดยุทธศาสตร์ติดตามผลทุกเดือนเน้นประสานคล่องตัว แก้ 5 ปัญหาเร่งด่วน ไม่ยุ่งงบ
วันที่ 19 ก.ย.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน โดยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธานคณะทำงาน มีคณะทำงาน ประกอบด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นคณะทำงานและเลขานุการ รวม 7 คน
“ถือเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งคณะทำงานฯพัฒนากรุงเทพฯ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่มาของคณะทำงานชุดนี้ เริ่มจากท่านนายกฯ ได้เรียกไปพบเมื่อสัปดาห์ที่แล้วถึงปัญหาต่างๆ โดยมองว่ากรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ เรามี GDP ถึง 33% ของประเทศไทย รายได้จากการท่องเที่ยวผ่านกรุงเทพฯ อย่างน้อย 30% ประชากรรวมประชากรแฝง มีประมาณ 15% และมีบริษัทที่จดนิติบุคคล 36% อยู่ที่กรุงเทพฯ ปัญหาสำคัญของ กทม. เราไม่ได้มีอำนาจควบคุมทุกอย่าง ต้องประสานงานกับหลายหน่วยงานมาก ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การไฟฟ้า การประปา ขสมก. รฟม. ร.ฟ.ท. การทางพิเศษฯ การท่องเที่ยว ต้องประสานงานทั้งหมด ที่ผ่านมาประสานกันได้ดีเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ไม่ได้มีการทำอย่างบูรณาการ จึงได้มีการตั้งคณะทำงานฯขึ้นเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนปัญหาเร่งด่วนของ กทม. เน้นที่การประสานงาน ไม่เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ ลักษณะของคณะจะทำงานคล้ายๆ รูปแบบ Executive Committee ของเอกชน เป็นคณะเล็กๆ มีความคล่องตัว ตัดสินใจและขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ ผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ โดยจะกำหนดเป้าหมาย ให้หน่วยงานทำงาน และติดตามตรวจสอบ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนมากขึ้น รอท่านนายกฯกลับมาจะได้นัดประชุมคณะทำงานครั้งแรก กำหนดยุทธศาสตร์ลุยงาน และจะมารายงานผลความคืบหน้าในทุกๆ เดือน”นายชัชชาติ กล่าว
สำหรับปัญหาเร่งด่วนของ กทม.ที่ต้องเร่งดำเนินการ 5 ด้านหลัก1.การจราจร (กทม. สตช. รฟม. กทพ. ร.ฟ.ท. ขบ. ทล. ทช.ขสมก.) ตั้งเป้ากวดขันระเบียบวินัยจราจร ลดปัญหาจุดฝืด การทำผิดกฎจราจร จอดรถในที่ห้ามจอด, การกำกับดูแลการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรใน กทม. เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงสีเหลือง สีชมพู ถนนพระราม 2 และโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน, การพัฒนาระบบสัญญาณไฟจราจรให้เป็นแบบอัตโนมัติ และเชื่อมโยงกันระหว่างทางแยก, การจัดการระบบการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงกันรถไฟฟ้า รถเมล์ มอเตอร์ไซค์ รถสองแถว เรือ ทางเดินเท้า ให้มีราคาที่เหมาะสม และสะดวก 2.เศรษฐกิจ (กทม. รฟม. ร.ฟ.ท. กทพ. กทท. BOI กค. ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ CEA) การใช้ทรัพยากรของรัฐช่วยเรื่องการทำมาหากินของผู้มีรายได้น้อย เช่น การจัดพื้นที่ให้ขายของแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า, เตรียมความพร้อมในเรื่องการส่งเสริมพัฒนาทักษะ (re-skill, up-skill) ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐต้องการส่งเสริม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ, สนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัย
ทั้งในส่วนของผู้มีรายได้น้อย และที่อยู่อาศัยใกล้งานสำหรับคนทำงาน, สนับสนุนการจัดทำ Special Economic Zone ใน กทม. เพื่อกระตุ้นการลงทุน และ IHQ ดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้มาตั้งสำนักงานใน กทม.(International Headquarters) เพื่อให้เกิดการจ้างงาน
3.การท่องเที่ยว (กทม. สตช. ททท., คค. CEA) ดึงอัตลักษณ์สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ เพิ่มแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านต่างๆ เช่น การเดินทาง การเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ตุ๊กตุ๊ก แท็กซี่ ไกด์ผี, ที่พัก คุณภาพ มาตรฐาน การให้บริการ, แหล่งท่องเที่ยว ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวก, การบริการได้มาตรฐาน ปลอดภัย ไม่หลอกลวง และจัดงานWinter Festival ในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวช่วงปลายปี 4.PM2.5 (กทม. กษ, คค. ขบ. กค.) มาตรการควบคุมการเผาข้าวอ้อย ผลิตผลทางการเกษตรทั้งในประเทศและนอกประเทศ, ส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่มีการปล่อยมลพิษน้อยเช่น รถ EV รถและน้ำมันมาตรฐาน EURO5และ 5.การนำสายสื่อสารลงดิน (กทม. กสทช. NT กฟน. ผู้ประกอบการโทรคมนาคม) เร่งรัดหน่วยงานเกี่ยวข้องในการร่วมกันจัดระเบียบสายสื่อสาร
ทั้งนี้ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร มีหน้าที่และอำนาจ 1.กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นในทุกๆ ด้านในภาพรวมของพื้นที่กรุงเทพฯ 2.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสั่งการหน่วยงานปฏิบัติและบูรณาการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายและแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ 3.ประสานความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานราชการในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงภาคเอกชน ภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่ 4.เชิญหน่วยงาน ส่วนราชการ หรือบุคคลมาชี้แจง ให้ข้อเสนอแนะ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ โดยแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร รวมถึงปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย มีผลตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี