ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มข. พร้อมด้วย ศ.ดร.อลิศรา เรืองแสง นักวิจัยคณะเทคโนโลยี มข., นายสุริยันต์ บุญพิโย ผู้ช่วยนักวิจัย, ชลธิชา มามิมิน ผู้ช่วยวิจัย และคณะส่งมอบนวัตกรรมภายใต้โครงการทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและวิสาหกิจ “ต้นแบบกระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือน” ให้แก่เทศบาลตำบลบ้านผือ โดยมี นายสุรชัย พลทะอินทร์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือ พร้อมด้วยนายทองไสย์ ไชยบุตรดี รองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือ และผู้นำชุมชน เป็นผู้แทนในการรับมอบนวัตกรรม
ศ.ดร.ธิดารัตน์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่งมอบ “ต้นแบบกระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือน” ให้แก่เทศบาลตำบลบ้านผือ หลังได้ลงพื้นที่มาศึกษาดูงาน และติดตั้งเครื่องให้ชุมชนได้ทดลองใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ภายใต้โครงการทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและวิสาหกิจ
“ต้นแบบกระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือนนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงสังคม ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง และหวังว่าจะสามารถต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์เป็นวงกว้างในอนาคต
ต่อไป”
ด้านนายสุรชัย พลทะอินทร์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านผือกล่าวว่า ขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นอย่างยิ่งที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ จะใช้ต้นแบบนวัตกรรมนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อให้ชุมชน/ครัวเรือนสามารถพึ่งพาตนเองได้ทางด้านพลังงานลดค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิงสำหรับการหุงต้มในครัวเรือน และการใช้ประโยชน์จากกากตะกอนที่เหลือจากการหมัก รวมทั้งจะได้นำไปพิจารณาต่อยอดการใช้ประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป
ขณะที่ ศ.ดร.อลิศรา ระบุว่า ต้นแบบการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลวัวและมูลกระบือระดับครัวเรือน ประกอบด้วย ตัวถังหมักสำหรับเติมมูลวัว-มูลกระบือ ซึ่งภายในถังหมักจะมีใบกวนผสมมูลสัตว์อยู่ด้านในเพื่อให้มูลสัตว์ภายในถังหมักเกิดการผสมได้ดีและก่อให้เกิดแก๊ส โดยตัวแกนหมุนใบผสมนี้ทางทีมวิจัยได้นำแผงโซลาร์เซลล์มาช่วยเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้า เพื่อลดภาระค่าไฟของชุมชนด้วย สำหรับแก๊สชีวภาพที่ได้จากถังหมักจะผ่านตัวกรองชีวภาพ โดยมีผงเหล็กออกไซด์เป็นตัวดูดซับแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือ “แก๊สไข่เน่า” ทำให้แก๊สที่ผลิตไปให้ชุมชนใช้งานไม่มีกลิ่นเหม็นหลงเหลืออยู่ ก่อนเข้าถุงเก็บแก๊สที่มีการต่อท่อไปยังเตาในครัวเพื่อใช้ในการประกอบอาหารทดแทนแก๊สหุงต้ม เพียงแค่นำมูลวัวหรือมูลกระบือเทลงไปในถังหมักแล้วรอประมาณ 1 คืนเพื่อให้เกิดกระบวนการหมักและผลิตแก๊ส เช้าวันถัดมาก็จะสามารถเปิดถุงแก๊สเพื่อให้แก๊สไหลไปกับท่อที่ฝังอยู่ใต้ดินเข้าไปในเตาไฟที่ครัวและใช้งานได้ทันทีเหมือนแก๊สหุงต้มทั่วไป ส่วนกากตะกอนที่ได้จากระบบผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์จากถังหมักก็สามารถถ่ายออกจากถังหมักแล้วนำไปเป็นปุ๋ยรดน้ำต้นไม้ หรือ
นำไปทำให้แห้งก่อนจะอัดเป็นถ่านอัดแท่งได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี