เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยสายงานเศรษฐกิจมหภาค การประเมินผล และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2566 ในหัวข้อ“ตลาดแรงงานไทย: ข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย” ณ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท ซ.สุขุมวิท 2 กรุงเทพฯ โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า หัวข้อที่จัดสัมมนานี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าโครงสร้างประชากรไทยปรับเปลี่ยนไป
โดยเฉพาะในปี 2566 นี้ เป็นปีที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 19.7 ขณะที่ประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ อย่างในปี 2566 มีประชากรวัยแรงงานราวร้อยละ 65 จากนั้นในปี 2570 จะลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 61.4 และในปี 2580 จะเหลือเพียงร้อยละ 56.8 นี่จึงเป็นความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และข้อขำกัดนอกจากเริ่องปริมาณยังมีเรื่องคุณภาพด้วย
“ในช่วงที่ผ่านมา ศักยภาพแรงงานเราก็ฟื้นตัวได้ช้า จริงๆ มันเกิดมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด แต่พอมีโควิดมามันก็ทำให้การพัฒนาคุณภาพแรงงานของเราก็ทำได้ช้าลงด้วย ประกอบกับว่าในอนาคตเองก็จะมีเรื่องของแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทักษะแรงงานของเราในอนาคต เพราะฉะนั้นเรื่องของการพัฒนาแรงงานเพื่อให้มีผลิตภาพสูงขึ้นเพื่อมาทดแทนแรงงานที่หายไปจากสังคมสูงวัยก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น” เลขาฯ สภาพัฒน์ กล่าว
ภายในงานยังมีการเผยแพร่ผลการศึกษาเรื่อง “ความไม่สอดคล้องของแรงงาน: ข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย” ซึ่งอธิบายการทำงาน 2 รูปแบบที่มีปัญหา คือ 1.การทำงานที่สูงกว่าวุฒิการศึกษา (Under Education) หมายถึงมีระดับการศึกษาน้อยแต่ได้ทำงานในตำแหน่งที่ต้องการวุฒิการศึกษาสูง กับ 2.การทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษา (Over Education) หมายถึงจบการศึกษาสูงแต่ยอมที่จะทำงานประเภทที่ใช้วุฒิการศึกษาต่ำกว่าที่จบมา โดยมีข้อค้นพบ ดังนี้
1.จังหวัดที่พบการทำงานสูงหรือต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่จบมา แบ่งเป็น 10 อันดับแรกของจังหวัดที่แรงงานทำงานสูงกว่าวุฒิการศึกษาที่จบมามากที่สุด อันดับ 1 สกลนคร อันดับ 2 หนองบัวลำภู อันดับ 3 ยโสธร อันดับ 4 กาฬสินธุ์ อันดับ 5 อำนาจเจริญ อันดับ 6 พะเยา อันดับ 7 ศรีสะเกษ อันดับ 8 ร้อยเอ็ด อันดับ 9 บึงกาฬ และอันดับ 10 เชียงราย ซึ่งมีข้อสังเกตว่า อาชีพส่วนใหญ่ในจังหวัดกลุ่มนี้จะอยู่ในภาคเกษตรกรรม
ในขณะที่ 10 อันดับแรกของจังหวัดที่แรงงานทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่จบมามากที่สุด อันดับ 1 ภูเก็ต อันดับ 2 นนทบุรี อันดับ 3 กรุงเทพฯ อันดับ 4 พระนครศรีอยุธยา อันดับ 5 สงขลา อันดับ 6 ปทุมธานี อันดับ 7 สิงห์บุรี อันดับ 8 นครศรีธรรมราช อันดับ 9 ตรัง และอันดับ 10 กระบี่ ซึ่งอาชีพส่วนใหญ่ในจังหวัดกลุ่มนี้จะอยู่ในภาคท่องเที่ยวหรือภาคบริการ 2.ปริญญาตรีเป็นวุฒิการศึกษาที่พบการทำงานแบบต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่จบมามากที่สุด ส่วนประถมศึกษาเป็นวุฒิการศึกษาที่พบการทำงานแบบสูงกว่าวุฒิการศึกษาที่จบมามากที่สุด
3.แม้แนวโน้มการทำงานที่สูงกว่าวุฒิการศึกษาจะลดลง แต่การทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษากลับเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากการสำรวจแบบจำแนกรุ่นหรือช่วงวัย ที่ผู้เกิดก่อนปี 2500 จะพบการทำงานที่สูงกว่าวุฒิการศึกษาในอัตราสูงมาก ก่อนจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับสำหรับผู้ที่เกิดช่วงปี 2501-2510 และช่วงปี 2511-2520 กระทั่งผู้ที่เกิดช่วงปี 2521-2530 เริ่มพบแรงงานที่ทำงานตรงกับระดับการศึกษาที่จบมา (Match) มากที่สุด รวมถึงผู้ที่เกิดปี 2531-2540 และเกิดหลังปี 2540 ก็เช่นกัน แต่ในประชากร 3 รุ่นหลังนี้ ก็พบแรงงานที่ทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษาเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้สำรวจเฉพาะความไม่สอดคล้องในแนวดิ่ง (Vertical Mismatch) หมายถึงการทำงานที่ต่ำหรือสูงกว่าวุฒิการศึกษาที่จบมาเท่านั้น ยังไม่รวมถึงความไม่สอดคล้องในแนวราบ (Horizon Mismatch) หมายถึงจบการศึกษาในคณะหรือสาขาวิชาหนึ่งแต่ไปทำงานที่ไม่ตรงตามที่เรียนมาในคณะหรือสาขาวิชานั้น โดยผลการศึกษาดังกล่าว ได้สรุปว่า
1.สถานการณ์ความไม่สอดคล้องทางการศึกษา (Vertical Mismatch) เป็นประเด็นท้าทายที่สาคัญต่อเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการทำงานที่ใช้ทักษะต่ำกว่าระดับการศึกษา (Over Education) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานหลักที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มที่จะทำงานที่ต่ำกว่าทักษะมากขึ้น และมีความแตกต่างกันในเชิงพื้นที่
2.ความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ กลุ่มอาชีพที่มีความต้องการมากกว่าการบรรจุงานส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ใช้ทักษะระดับปานกลางสาหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาและสายอาชีวศึกษา (ปวช.-ปวส.) อาทิ พนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า และช่างเทคนิค เป็นต้น โดยอุปสงค์ (Demand) แรงงานส่วนเกินเพิ่มสูงขึ้นในแทบทุกมิติ หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
3.ผลต่อรายได้ของแรงงาน ทั้งผู้ที่มีทักษะสูงกว่าและต่ำกว่าระดับอาชีพ (Over/Under Education) จะมีรายได้ต่ำกว่าระดับที่ควรได้รับ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าขึ้นไป 4.ผลของความไม่สอดคล้องของแรงงานต่อเศรษฐกิจมหภาค จังหวัดที่มีการจ้างงานแรงงานไม่ตรงกับระดับการศึกษาจะส่งผลเสียต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในจังหวัด และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในจังหวัดต่อประชากร (GDP Per Capita) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
สำหรับข้อเสนอแนะ มีดังนี้ 1.การพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของภาคการผลิต (Demand Driven) โดยอาศัยการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบและครบถ้วนเพื่อเชื่อมโยงสาขาการศึกษา ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ และข้อมูลทักษะในแต่ละวิชาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายในอนาคต 2.การยกระดับคุณภาพของสถาบันการศึกษาสายอาชีพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมกันสร้างและพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
3.การกำหนดค่าตอบแทนให้สะท้อนความสามารถที่แท้จริง เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับแรงงานโดยการกำหนดค่าตอบแทนแรงงานในสาขาอาชีพและทักษะฝีมือที่ขาดแคลน มีความต้องการของตลาดแรงงานให้สะท้อนความสามารถที่แท้จริง ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปกครองต่อการเรียนในสายอาชีพ และ 4.การส่งเสริมการใช้ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ส่งเสริมการปรับใช้ระบบธนาคารหน่วยกิตในสถาบันการศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาสามารถสะสมความรู้ ประสบการณ์ และการอบรม เพื่อใช้ประกอบเป็นทุนการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือเป็นใบรับประกันทักษะเพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจ
นอกจากนั้นยังมีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ตลาดแรงงานไทย: ข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย” โดย ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการ เศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และการเสวนาเรื่อง “สถานการณ์ภาคแรงงานของไทย และแนวทางการยกระดับแรงงานไทยเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ” โดยมีวิทยากร 4 ท่าน คือ ผศ.ดร.นครินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนา และรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) , รศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,
นายสุริชัย สดับสาร Business Director จากบริษัท Jackson Grant Recruitment จำกัด และ นายอิสระ วงศ์วิวัฒน์ กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สภาพัฒน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ทำการศึกษาเรื่อง “ความไม่สอดคล้องของแรงงาน: ข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย” ที่นำมาเผยแพร่ข้างต้น ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนาได้ที่ https://www.nesdc.go.th/ewt_news.php?nid=14221
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี