JPA มาเลเซีย รุดดูงาน สอวช. หวังใช้เป็นโมเดลต้นแบบทำงานเชิงนโยบาย ชมเปาะทันสมัย
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 คณะผู้บริหาร สำนักงานสภานโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย นางสาวรติมา เอื้อธรรมาภิมุข รองผู้อำนวยการ สอวช. ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจาก Jabatan Perkhidmatan Awam (JPA) จากประเทศมาเลเซีย กว่า 30 คน โดยการประสานงานของ เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย ที่ให้ความสนใจกระบวนการทำงานของ สอวช. ในฐานะหน่วยงานนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ ที่มีความเป็นผู้นำในหลาย ๆ ด้าน
นางสาวรติมา กล่าวว่า JPA เป็นหน่วยงานราชการที่มีลักษณะการทำงานเหมือนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ของบ้านเรา เขาสนใจการวางรูปแบบการทำงานของ สอวช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทำนโยบายด้าน อววน. ของประเทศไทย ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงติดต่อทาง เดล คาร์เนกี ของทั้งสองประเทศ เพื่อประสานเข้ามาดูงาน ซึ่งทาง สอวช. เองได้แชร์รูปแบบและตัวอย่างการทำงานของ สอวช. ที่มีความเป็นผู้นำทางด้านธรรมาภิบาล มีคุณธรรม มีความโปร่งใส มีส่วนร่วม มีความรับผิดชอบ มีความคุ้มค่า ตามหลักนิติธรรม และน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้เป็นหลักของการทำงาน นอกจากนี้ยังมีการออกแบบระบบการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่ง สอวช. นำดิจิทัลเข้ามาใช้ ทั้งงานด้านกฎหมาย ด้านบัญชี ด้านบุคคลและด้านอื่น ๆ ที่มีการนำระเบียบไปใส่ในระบบ ส่งเสริมธรรมาภิบาลได้เป็นอย่างดี
รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า หลังจากที่ สอวช. ได้นำเสนอ ทาง JPA ยอมรับว่าการออกแบบการทำงานของ สอวช. โดยเฉพาะเรื่องความเป็นผู้นำทางด้านธรรมาภิบาล สอวช. ออกแบบได้ดีมาก และที่เขาสนใจ คือเรื่องการสรรหาบุคลากร การพัฒนาบุคลากร การทำงานในรูปแบบ Work from anywhere ซึ่ง สอวช. ได้ดำเนินการมาก่อนเกิดสถานการณ์โควิด โดยทาง JPA ยอมรับว่าเขาไม่มีนโยบายดังกล่าวเลย นอกจากนี้ ในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่าน ทั่วโลกนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบในหน่วยงานของรัฐ ทาง JPA เองก็ยอมรับว่า หลายอย่างเขายังทำไม่ได้ และยังติดรูปแบบเดิมอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเอกสารที่ยังใช้เป็นกระดาษเพื่อจัดเก็บข้อมูล ซึ่งจากรูปแบบที่สอวช. ดำเนินการ เขามองว่ารัดกุม ตรวจสอบได้ มีการสำรองข้อมูลอย่างปลอดภัย หากเกิดการล่มของระบบจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งทาง JPA จะขอนำไปเป็นโมเดลต้นแบบ ในการดำเนินงานต่อไป
ด้าน ดร.สุชาต ได้นำเสนอผลงานของ สอวช. ภายหลังจากดำเนินงานย่างเข้าสู่ปีที่ 5 ว่า สอวช. ได้วางรากฐานโครงสร้างทางนโยบาย ด้วยการใช้ อววน. นำพาประเทศไทยสู่ประเทศรายได้สูงได้ภายในปี 2580 โดยยกตัวอย่าง การพัฒนากำลังคน การสร้างแพลตฟอร์ม STEMPlus การพัฒนาทักษะและสมรรถนะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ สอวช. ได้พัฒนาร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง จนได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 นอกจากนี้ ยังใช้กลไกเชิงยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 สอวช. ได้วางแนวทางข้อริเริ่มในการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยทำโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และชุมชน ให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นต้น
ด้านนายริชาร์ด บาราฮิม (Richard Barahim) ผู้แทนจาก JPA กล่าวว่า ขอบคุณ สอวช. ที่ได้ให้โอกาส JPA ได้เข้ามาศึกษาดูงานในครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า สอวช. ในฐานะหน่วยงานทำนโยบายของรัฐบาล มีความทันสมัยและมีหลักธรรมาภิบาลสูง นอกจากนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ได้อย่างคล่องตัว โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ สามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสู่ “รัฐบาลดิจิทัล” ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ JPA จะได้นำไปปรับใช้กับระบบการทำงาน และคงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกันอีกในอนาคต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี