เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 คณะสังคมสงคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิ เอ.ที.ดี.เพื่อนผู้ยากไร้ จัดงาน “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ งานที่มีคุณค่าและการคุ้มครองทางสังคม ปฏิบัติการเพื่อศักดิ์ศรีสำหรับทุกคน” ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เนื่องในวันสากลแห่งการขจัดความยากไร้ โดย นายสรสิช สว่างศิลป์ อาจารย์คณะสังคมสงคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “ระบบการคุ้มครองทางสังคมของไทย” ว่า ในประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546
โดยนิยามของคำว่าสวัสดิการสังคมตามกฎหมายนี้ หมายถึง ระบบการจัดบริการทางสังคมซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม และให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีราบได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจระบบสวัสดิการสังคมที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐไทยจัดให้ประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการให้เงิน และเป็นมาตรการช่วยเหลือทางสังคม (Social Assistant) เสียมากกว่า ซึ่งช่วยบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าได้ในระยะสั้น แม้เรื่องนี้จะจำเป็นแต่หากไปดูใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 ก็จะมีคำถามเรื่องความยั่งยืนว่าจะทำอย่างไร เช่น สวัสดิการของเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่ารัฐบาลมีงบประมาณจำกัด
นายสรสิช กล่าวต่อไปว่า คำถามต่อไปคือเรื่องของคุณภาพ จะทราบได้อย่างไรว่าเงินที่รัฐบาลให้ในเรื่องของค่าอุปการะบุตรตั้งแต่ 0 - 6 ปี จะเอาไปใช้อะไร และผลที่ได้จะเป็นอย่างไร เรื่องนี้กระบวนการทำงานวิจัยต้องเข้ามาเพื่อพิสูจน์ว่านโยบายต่างๆ ที่ออกมามีประสิทธิภาพเพียงใด จะต้องขยายช่วงอายุให้กว้างขึ้นกว่านี้หรือไม่ เป็นต้น และยังมีข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการจัดสวัสดิการด้านนันทนาการ
สำหรับข้อคำถามที่ว่า ที่ผ่านมาเมื่อกล่าวถึงการจัดสวัสดิการสังคม มักเป็นเรื่องความช่วยเหลือของภาคประชาสังคม หรือไม่ก็เป็นบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายของภาครัฐหรือนโยบายของฝ่ายการเมือง ทำอย่างไรจะสื่อสารให้ภาคเอกชนรวมถึงประชาชนทั่วไปที่อาจจะไม่ใช่คนระดับฐานรากมีรายได้น้อยเข้าใจและมาร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้น ประเด็นนี้ตนเห็นว่า ในส่วนของภาคเอกชน แม้เรื่องธุรกิจกับเรื่องสังคมจะเป็นความรู้คนละศาสตร์ แต่ภาคธุรกิจก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและไม่สามารถแยกออกไปจากสังคมได้
ซึ่งภาคธุรกิจเองก็พยายามทำในเรื่องของ CSR และภาคธุรกิจก็มีแนวคิดที่เชื่อว่าธุรกิจจะเติบโตได้ภาคสังคมต้องแข็งแรง เพราะสังคมคือคนทุกคนไม่ว่าจะถูกจัดเป็นชนชั้นใดก็ตาม โดยในมุมมองของธุรกิจก็คือผู้บริโภคและทรัพยากรมนุษย์ อันเป้นส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจของผู้ประกอบการ ขณะที่ทางด้านวิชาการก็มีความพยายามรวมองค์ความรู้ด้านธุรกิจและสังคมเข้าด้วยกัน บางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมีการควบรวมคณะที่สอนวิชาทั้ง 2 เข้าด้วยกัน
“อีกประเด็นหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน ถ้าเป็นชนชั้นกลางทำไมต้องสนใจคนจน? ส่วนตัวผมขออธิบายแบบนี้ แต่ละช่วงชั้นมันไมได้แยกกันอยู่ มันมีความสัมพันธ์กันทางสังคม ถ้าเกิดมันมีผลกระทบส่วนใดส่วนหนึ่งมันจะกระทบชิ่งไปสู่ส่วนอื่น มันจะลากกันไป คือทางสังคมมันจะกระทบกันในระยะยาว เมันจะคล้ายๆ กับถ้าเรามองเรื่องการต่างประเทศ ทำไมเราต้องสนใจประเทศเพื่อนบ้าน? ทำไมต้องให้ความช่วยเหลือ? เพราะถ้าประเทศเพื่อนบ้านแข็งแรงไม่มีโรคภัย มีการพัฒนา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มันก็จะลดปัญหา ยกตัวอย่างเช่น แรงงานข้ามชาติ” นายสรสิช กล่าว
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) รับรองวันที่ 17 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสากลแห่งการขจัดความยากไร้ (International Day for the Eradication of Poverty) ด้วยมติที่ 47/196 ของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2535 ซึ่งสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2530 มีผู้คนนับแสนไปรวมตัวกันที่ทรอกาเดโร (Trocadero) ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส เป็นสถานที่ลงนามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี 2491 เพื่อรำลึกถึงผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความยากจน ความรุนแรงและความหิวโหย
โดยในการรวมตัวครั้งนั้น มีการประกาศร่วมกันว่า ความยากจนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในการรับรองวันสากลแห่งการขจัดความยากไร้ องค์การสหประชาชาติได้เชิญชวนทุกประเทศให้อุทิศวันดังกล่าวเพื่อนำเสนอและส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมตามความเหมาะสมในบริบทของแต่ละประเทศเพื่อการขจัดปัญหาความยากจน อีกทั้งเชิญชวนให้องค์กรระหว่างรัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนช่วยเหลือรัฐต่างๆ ในการจัดกิจกรรมระดับชาติเพื่อระลึกถึงวันดังกล่าว
ในวันที่วันที่ 17 ตุลาคม ถือเป็นโอกาสรับทราบถึงความพยายามและการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในความยากจน เป็นโอกาสสำหรับคนเหล่านั้นที่จะเปิดเผยข้อกังวลของตนเอง และช่วงเวลาที่จะรับรู้ว่าคนยากจนเป็นกลุ่มแรกที่ต่อสู้กับความยากจน อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความเต็มใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในความยากจน เพื่อใช้ความเชี่ยวชาญของตนเองในการมีส่วนร่วมเพื่อขจัดความยากจน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี