วช. จัดงานครบรอบ 64 ปี “สร้างองค์ความรู้ เชิดชูเกียรตินักวิจัย พัฒนาประเทศไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ตอกย้ำบทบาทหน่วยงานกลางด้านการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โชว์ผลงานเด่นในรอบปี-เปิดเวทีเสวนาถกประเด็นสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม พร้อมเชิญชวนผู้สนใจร่วมอบรม-ฝึกอาชีพ และ ชิม-ช้อป-เพลินกับสินค้าจากงานวิจัย ได้ระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคมนี้ ณ บริเวณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บางเขน กรุงเทพฯ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานเนื่องในโอกาสสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ครบรอบ 64 ปี“64 ปีวช. สร้างองค์ความรู้ เชิดชูเกียรตินักวิจัย พัฒนาประเทศไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อนำเสนอ บทบาทของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงฐานข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชนและการพาณิชย์ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า นับจากการจัดตั้งสภาวิจัยแห่งชาติขึ้นในปี พ.ศ. 2502 ตามพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2502 จึงได้ถือว่าเป็นวันสถาปนาสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ และได้วิวัฒนาการมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในปี พ.ศ. 2515 ก่อนเข้าสู่ช่วงของการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทำให้ในปี 2562 ได้มีการปรับเปลี่ยนสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มาเป็น “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” หรือ “วช.” ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
จากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 64 ปี วช. ซึ่งเข้าสู่ทศวรรษที่ 7 ได้มีการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งมั่นส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งแก้ปัญหาและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และนำประเทศไปสู่การพัฒนาด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ตรงความต้องการ” และ “เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ” ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การนำของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. คนปัจจุบัน
ทั้งนี้ วช. ได้มีการดำเนินภารกิจภายใต้บทบาทสำคัญ อาทิ การบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งในด้านสังคม คุณภาพและความมั่นคง มุ่งสร้างสังคมที่มีการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและทางสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งใช้ความรู้การวิจัยและนวัตกรรม จัดการกับปัญหาท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศ ขณะที่ด้านสังคมสูงวัย มุ่งพัฒนาคนในทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองอย่างมีคุณค่า
ส่วนการจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ปัจจุบัน วช.ได้มีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NRIIS เพื่อให้ผู้ใช้งานในกลุ่มต่างๆ ได้รับประโยชน์ มีการพัฒนามาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย โดยส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนกำกับและติดตามการดำเนินการตามมาตรฐานการวิจัยทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และสังคม นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนอาชีพนักวิจัยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนการส่งนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยเข้าร่วมประกวดในเวทีระดับนานาชาติ อย่างต่อเนื่อง
ดร.วิภารัตน์ กล่าวถึงผลงานเด่นของ วช. ในรอบปีที่ผ่านมาว่า นอกจากระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกในการบริหารจัดการข้อมูลแผนงานและงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศแล้ว วช. ยังได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 ประเภทรางวัลประสิทธิผลเครือข่ายจากโครงการ “ศูนย์วิจัยชุมชน โดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค” ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์วิจัยชุมชนทั่วประเทศ 69 ศูนย์ มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์แล้วมากกว่า 80 ผลงาน
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเด่นด้านผลผลิตทางการเกษตรซึ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดไปยังสหรัฐอเมริกาได้ ผ่านนวัตกรรมการกระจายรังสีในบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับกฎระเบียบของทางสหรัฐอเมริกา รวมถึงสามารถขนส่งเนื้อทุเรียนทางเครื่องบินได้ด้วยบรรจุภัณฑ์ดูดกลิ่นและดูดความชื้นงานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีการพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของเตียงผู้ป่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับด้วยระบบควบคุมผ่านโมบายแอปพลิเคชั่น และการพัฒนาเท้าเทียมไดนามิกที่ช่วยให้ผู้พิการสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้
ส่วนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการออกแบบสวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ ลด PM2.5” และ “ศูนย์เกษตรวิถีเมือง” ที่ช่วยลดข้อจำกัดในการปลูกพืชในเมือง มีการพัฒนาเทคโนโลยีโดรน และผลักดันให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร และมีงานวิจัยรองรับสังคมสูงวัย เช่น โครงการเกษียณมีดี ที่สร้างระบบนิเวศ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย
สำหรับงานครบรอบ 64 ปี วช. ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2566 ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) บางเขน ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจประกอบด้วยการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วช.ในทศวรรษที่ 7 กับการพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม” และการเสวนาในประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยวิจัยและนวัตกรรม, 2050 to Carbon Neutrality ด้วยวิจัยและนวัตกรรม, Go Greenกับพลังงานใหม่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม และ AI ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และยังมีกิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ ทั้งการฝึกอาชีพและให้ความรู้จากงานวิจัย เช่น การอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษร เทคนิคการปลูกผักสลัดในพื้นที่เมือง การผลิตสารสกัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพืชจากวัตถุดิบธรรมชาติดอกไม้จากวัสดุฉลาด และการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยมาให้ “ชิม ช้อป เพลิน” มากมาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี