สจส. เล็งขยายใช้ระบบ ITMS พื้นที่ชั้นใน-จุดจราจรติดขัด หลังพอใจ 4 ถนนนำร่อง ช่วยลดความล่าช้าการเดินทางชั่วโมงเร่งด่วนได้ 10%สำรวจประเมินทุกวัน แก้ไขทางข้ามเพิ่มความปลอดภัย “เดินทางดี”
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการ สำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวถึงการพัฒนาระบบการจัดการจราจร และความปลอดภัยในการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้พัฒนาปรับปรุงทางข้ามทางม้าลายเพิ่มความปลอดภัยการเดินทางของประชาชน โดยสำรวจ ปรับปรุง และประเมินผลการใช้งานตลอดทุกวัน เพื่อให้ทรัพยากรที่ทุ่มเทลงไปนั้นได้ประโยชน์ตรงวัตถุประสงค์ที่ประชาชนจะเดินทางได้อย่างปลอดภัยจริง ทั้งผู้ที่ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์รถจักรยาน และผู้เดินเท้าที่ใช้ทางเท้า ทางข้าม โดย สจส.ได้ปรับปรุงทางข้ามทางม้าลายในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 2,800 จุด โดยปรับปรุงทางข้ามเป็นสีโคลพลาสติกสีแดงในจุดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจำนวน 500 ทางข้าม ซึ่งจะสำรวจอย่างต่อเนื่องในจุดเสี่ยงเพื่อปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสม รวมถึงติดตั้งระบบ AI ตรวจจับภาพผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรส่งภาพผู้กระทำผิดให้เจ้าพนักงานตำรวจจราจรจับปรับในอัตราโทษสูงสุดด้วย โดยมุ่งพัฒนาให้ถนนปลอดภัยสำหรับทุกคน
ด้านการจัดการจราจร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีนโยบายการพัฒนาเมือง “เดินทางดี” มุ่งเน้นการใช้ระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรทั้งโครงข่าย โดย สจส.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ได้ริเริ่มเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นำร่องโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ หรือ Area Traffic Control (ATC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บนถนนหลัก 4 สาย ได้แก่ ถนนพระราม 6 ถนนราชวิถี ถนนพหลโยธิน และถนนประดิพัทธ์ ซึ่งมีระบบสัญญาณไฟจราจรทางแยก 13 แห่ง และสัญญาณไฟทางข้ามอีก 4 แห่ง หลังจากเปิดใช้ระบบฯ พบว่าสามารถช่วยลดความล่าช้าของการเดินทางบนถนนทั้ง 4 สายในชั่วโมงเร่งด่วนลง 10% และลดความล่าช้าในการเดินทางนอกชั่วโมงเร่งด่วนลงได้ถึง 30% ในระยะต่อไปจะนำการประยุกต์ใช้ข้อมูลสภาพจราจรประเภท GPS มาใช้ในพื้นที่โครงการ เพื่อตรวจสอบปริมาณรถและรายงานความเร็วของกระแสการจราจร เพื่อให้สามารถคาดการณ์ระยะเวลาการเดินทางได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น โดยจะขยายผลการดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และจุดที่มีการจราจรติดขัดตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบสัญญาณไฟจราจรทางแยกแบบ Adaptive Control ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนจังหวะเวลาการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรได้ตามปริมาณการจราจรที่เปลี่ยนแปลงไปโดยดำเนินการไปแล้ว จำนวน 71 ทางแยก ในปี 2567 สจส. ได้รับงบประมาณเพื่อเปลี่ยนระบบสัญญาณไฟจราจรแบบ Fix Time เป็นระบบสัญญาณไฟจราจรแบบ Adaptive เพิ่มเติมอีกจำนวน 72 ทางแยก และในระยะต่อไป สจส.มีแผนในการจัดตั้งศูนย์ควบคุมและบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีจราจรและความปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 โดยจะพัฒนาให้เป็นศูนย์ ITMS ของกรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมและสั่งการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และบริหารจัดการจราจรโดยใช้ระบบจราจรอัจฉริยะ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลในการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี