กทม.จับมือกรมควบคุมโรค-ภาคี ขับเคลื่อนปฏิบัติการลดบริโภคเกลือ-โซเดียมในอาหาร เสริมสร้างสุขภาพดี เผยคนไทยบริโภคเกลือเกินเกณฑ์ WHO 2 เท่า
วันที่ 26 ต.ค. 2566 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในกรุงเทพมหานคร โดยมี นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO) นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักอนามัยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มวิทยากร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมวิภาวดี บอลรูม โรงแรมปริ๊นส์ตัน เขตดินแดง
จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ.2561-2562 และการสำรวจปริมาณการบริโภคโซเดียมของคนไทยจากการเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง ในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,388 ราย พบว่าร้อยละ 67 มีการบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อคน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการบริโภคเกลือตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกถึง 1.5-2 เท่าซึ่งการบริโภคเกลือและโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง และส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งพบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อที่มีความสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารรสเค็ม 22.05 ล้านคน (โรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 0.75 ล้านคน และโรคหลอดเลือดสมอง 0.5 ล้านคน) และมีแนวโน้มความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อจากการบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเป้าหมายการลดค่าเฉลี่ยการบริโภคเกลือและโซเดียมลงร้อยละ 30 เป็น 1 ใน 9 ตัวชี้วัดของการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับโลก (9 global targets for noncommunicable diseases) อีกทั้งสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานเฝ้าระวังการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการป้องกันโรคไม่ติดต่อระดับโลก
กรมควบคุมโรค โดยกองโรคไม่ติดต่อ ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมประเทศไทย พ.ศ.2559-2568 และจัดทำมาตรการการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดำเนินงานสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วย Salt meter และการสำรวจความตระหนักรู้การบริโภคเกลือ และโซเดียมของประชาชน อีกทั้งมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายการดำเนินงานเฝ้าระวังการบริโภคเกลือ และโซเดียมของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุมจากสังกัดกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ฝ่ายสิ่งแวดล้อมสำนักงานเขต กองสุขาภิบาลอาหาร กองสร้างเสริมสุขภาพศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และผู้จัดการตลาดในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นภาคีสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหารปรับสูตรลดโซเดียมในอาหาร รวมทั้งสิ้น 250 คน
รองปลัดกทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นมหานครขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นมากที่สุดในประเทศไทย เป็นพื้นที่เขตเมือง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัว และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งหน้าทำมาหากิน จนละเลยการดูแลสุขภาพ กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ดูแลประชาชนอย่างครบวงจรด้วยภารกิจในการให้บริการอันหลากหลาย ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การศึกษา และคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ โดยมีเป้าหมายให้ชาวกรุงเทพฯ ทุกคนมีชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมที่ดี ดังนั้น ในเรื่องของประเด็นการเฝ้าระวังเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ถือเป็นประเด็นท้าทาย และเร่งด่วนในการดำเนินงานเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครยังไม่มีข้อมูลการบริโภคโซเดียมของประชาชนในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญต่อการวางแผนในการป้องกันและควบคุมการก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประชาชน ขอให้ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุขโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชและตลาด ร่วมกันดำเนินการสำรวจอาหารในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในกรุงเทพมหานครสำเร็จตามวัตถุประสงค์ต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี