สกสว. ร่วมมือ สอวช. เสนอจัดตั้ง SRI (Science Research and Innovation) Consortium for Net Zero เป็นเครือข่ายหลักของประเทศ บูรณาการการทำงานกับทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยกลไกของระบบ ววน.
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุม “SRI (Science Research and Innovation) Consortium for Net Zero ครั้งที่ 1/2566” เพื่อส่งเสริมและผลักดันการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเกิดผลกระทบเชิงบวกด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมจากการใช้ ววน. บูรณาการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit: PMU) ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จากกว่า 30 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมหารือ ดังกล่าว
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึง แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผนด้าน ววน.) พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งมีแผนงาน และผลสัมฤทธิ์สำคัญสอดคล้องกับการดำเนินการด้าน Net Zero ประกอบด้วย P4: แผนงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและพลังงานสะอาด P7: แผนงานด้านยานยนต์ไฟฟ้า P15: แผนงานด้านการบริโภคอย่างยั่งยืน และ P16: แผนงานด้านการลดผลกระทบต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคาดหวังว่าเมื่อสิ้นสุดแผนด้าน ววน. ในปี 2570 จะเป็นกลไกสำคัญในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ช่วยให้ประเทศมีศักยภาพในการก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า บทบาทของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) สามารถหนุนเสริมการดำเนินการในภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อพาประเทศไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ด้วย การเชื่อมต่อกลไกระดับนานาชาติ การวิจัยและสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาพื้นที่นำร่องด้านนวัตกรรมด้วยการบูรณาการแต่ละสาขาและภาคส่วนด้วยนวัตกรรมและกลไกนานาชาติ รวมถึงการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านประเทศให้มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย
ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเสริมว่า การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศนั้น สามารถใช้องค์ความรู้ด้าน ววน. มาช่วยสนับสนุนได้ ทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน ที่สอดคล้องกันในระดับประเทศอย่างเป็นระบบ อีกทั้ง การทำงานที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ยังช่วยเพิ่มความการดำเนินการเพื่อตอบเป้าหมายประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในการหารือเพื่อขับเคลื่อน SRI Consortium for Net Zero ซึ่งได้รับฟังข้อเสนอทั้งภาครัฐ และเอกชนที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการ อย่างไรก็ตามจะนำความเห็นในวันนี้ ไปออกแบบการทำงานเพื่อให้เกิดการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อให้การลงทุนด้าน ววน. สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ และสิ่งสำคัญคือต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” รอง ผอ.สกสว. กล่าวสรุป
สำหรับ บทบาทหน้าที่ของ SRI Consortium for Net Zero นั้น จะเป็นคณะทำงานกลางของประเทศด้าน ววน. ที่ครอบคลุม 4 ประเด็น ดังนี้ 1) เรื่องแผนและนโยบาย 2) เป็นแหล่งข้อมูลด้าน ววน. (Stock of knowledge) 3) ด้าน Foresight และ 4) การใช้ประโยชน์จาก ววน. เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายร่วมกันในทุกภาคส่วนของประเทศด้าน Net Zero emission ผ่านการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน พร้อมช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างกลไกสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น มาตรการและกลไกที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมการนำ ววน. ไปใช้ได้จริงทั้งภาครัฐ และเอกชน และจะต้องพัฒนาเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับความสามารถด้าน ววน. ของบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้องในด้าน Climate change
“สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี