ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุก คนละ5 ปี อดีต4 ตำรวจโรงพักห้วยขวาง รีดเงินนักแสดงสาวชาวไต้หวัน กับพวก2.7 หมื่น แลกไม่ต้องถูกจับกุม มีบุหรี่ไฟฟ้า -ไม่พกpasspot ส่วนตร.อีก2 นายรอดคุก
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ย่านตลิ่งชัน ศาลได้อ่านคำพิพากษา คดีรีดทรัพย์นักท่องเที่ยวไต้หวัน หมายเลขดำ อท 54/2566 ที่พนักงานอัยการ สํานักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3เป็นโจทก์ ฟ้องอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ห้วยขวางรวม 6 คน เป็นจําเลยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ
โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 เวลากลางคืน จําเลยทั้งหก สังกัด สน.ห้วยขวาง ปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าสถานทูตจีน โดยจำเลยที่ 5 สังเกตเห็นรถยนต์ลักษณะต้องสงสัยจึงส่ง สัญญาณให้จอดเพื่อให้จําเลยที่ 4-5 ตรวจค้น โดย มีจําเลยที่ 1-3 อยู่ด้วย พบว่า กลุ่มคนโดยสารมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง 3 อัน ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาใน ราชอาณาจักรไทย ตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถแสดงหนังสือ เดินทาง (Passport) หรือหลักฐานอื่นใดว่าได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
จากนั้นจําเลยที่ 1-5 ได้ร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเป็นเงินสดจํานวน 27,000 บาท จากนาย ป. ชายชาวต่างชาติเพื่อไม่ต้องถูกดำเนินคดี นาย ป. จึงจํายอมส่งมอบเงิน จํานวนเงินดังกล่า ให้กับจําเลยที่ 3 จากนั้นจําเลยที่1-2 จึงสั่งให้ปล่อยตัวนาย ป. กับพวก ไปโดยไม่ได้ ดำเนินการตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงขอให้ลงโทษตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 83, 249, 157 พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172, 173และขอให้สั่งริบเงินจํานวน 27,000 บาท ที่ ได้มาจากการกระทําความผิดให้ตกเป็นของแผ่นดิน หากจําเลยทั้งหกไม่สามารถส่งมอบเงินจํานวนดังกล่าวได้ให้ร่วมกันชำระเงินจำนวน27,000บาทแทน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จําเลยทั้งหกกระทําความผิดตามฟ้อง หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนาย ป. ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานสำคัญเบิกความสอดคล้องกับบันทึกคำให้การที่ได้ ให้การไว้ได้ความว่า ในคืนวันเกิดเหตุพยานกับเพื่อนถูกเจ้าพนักงานตำรวจที่ตั้งจุดตรวจอยู่บริเวณหน้าสถานทูตจีนตรวจค้นตัว จากการตรวจค้นตัวพยานและเพื่อนพบบุหรี่ไฟฟ้า 3 อัน และ ส่วนที่เหลือ เมื่อถูกขอตรวจดูหนังสือเดินทางในกลุ่มของพยานมีเพียงคนเดียวที่พกพาหนังสือเดินทางฉบับจริง มีภาพถ่ายในโทรศัพท์เคลื่อนที่ เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่า พยานกับพวกทำผิดกฎหมายคือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ ในครอบครอง และไม่พกพาหนังสือเดินทางต้องถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจอาจถูกควบคุมตัวไว้ 2-3 วัน หรือ อาจถูกจำคุก พยานพยายามพูดคุยต่อรองให้เจ้าพนักงานตำรวจปล่อยตัวพยานกับพวก จนในที่สุดเจ้าพนักงาน ตำรวจได้บอกให้พยานจ่ายเงินกรณีที่มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง 3 อันๆละ 8,000 บาท และผู้เสียหายกับพวก 3 คน ไม่พกหนังสือเดินทางอีกคนละ 1,000 บาท รวม 27,000 บาท เพื่อแลกกับการปล่อยตัวพยานจึงจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว ให้แก่พวกจำเลยไป
ทั้งนี้พยานสามารถจดจำใบหน้าเจ้าพนักงานตำรวจที่เข้ามาพูดคุยต่อรองกับพยานได้ 3 คน คือ จำเลยที่ 2-4 นอกจากนี้ขณะที่มาเบิกความเป็นพยานที่ศาล นาย ป. ได้ชี้ตัวจำเลยที่ 2-4 ผ่านระบบประชุมทางจอภาพได้ถูกต้องแม่นยำ
ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะอ้างว่าขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่รถยนต์สายตรวจห่างออกไป 30 เมตร ไม่ได้เข้ามาพูดคุยหรือรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ปรากฎข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ว่า ขณะตรวจค้นตัวนาย ป. จำเลยที่ 3 เดินไปหาจำเลยที่ 1 เพื่อรายงานให้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการทราบ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 บอกว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้ดุลยพินิจตัดสินใจได้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าชุดเหมือนกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการย่อมต้องรับรู้และ รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้
ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ตรวจค้นตัวกลุ่มผู้เสียหาย ประกอบกับการที่ นาย ป. ตอบคำถามของทนายจำเลยที่ 4 ที่ขออนุญาตศาลถามว่า ระหว่างที่นาย ป. พูดคุยเจรจาอยู่กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 4 เดินไปเดินมาและบางครั้งก็เข้ามาพูดกับนาย ป. กับพวกว่าคนสิงคโปร์เดินทางเข้าประเทศไทยต้องขอวีซ่าจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 4 รับรู้และมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้วย
การกระทำของจำเลยที่ 1-4 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกัน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172, 173 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1-4 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 193 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่จำต้องปรับบท มาตรา 157 และมาตรา 172 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
สำหรับจำเลยที่ 5-6 ปรากฎข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุจำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด้านหน้าสุดของจุดตรวจ มีหน้าที่คัดกรองรถต้องสงสัยเพื่อส่งต่อให้เจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่ด้านหลังห่างกันประมาณ 35 เมตร จำเลยที่ 5 เป็นผู้เรียกให้รถยนต์คันที่ผู้เสียหายทั้งสี่นั่งมาเพื่อขอตรวจค้น เมื่อส่งสัญญาณให้รถคันดังกล่าวจอดแล้ว ดาบตำรวจ อ. ได้รับรถคันดังกล่าวไปดำเนินการต่อ โดยที่จำเลยที่ 5 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตรงจุดที่รับผิดชอบต่อไปไม่ได้เดินไปที่จุดตรวจที่อยู่ด้านหลังจนกระทั่งเลิกจุดตรวจ
จากพยานหลักฐานที่ปรากฏ ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 5 เข้าไปมีส่วนร่วมใกล้ชิดในการกระทำผิดที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีจำเลยที่ 4 ให้การไว้ว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 เวลา 00.45 น. จำเลยที่ 5 ได้นำเงินสดจำนวน 3,000 บาท มามอบให้แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นเงินอะไร เห็นว่า ลำพังเพียงข้อเท็จจริงเรื่องเงินนี้ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม กรณีไม่อาจทราบแน่ชัดว่าเป็นเงินอะไรได้มาอย่างไรจึง ไม่อาจนำข้อเท็จจริงส่วนนี้เพียงอย่างเดียวมาพิสูจน์ความถูกผิดของจำเลยที่ 5 ได้
ส่วนจำเลยที่ 6 ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 6 รับผิดชอบประจำอยู่ตรงจุดตรวจทำหน้าที่ตรวจค้นรถและตัวบุคคลคู่กับจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 6 เป็นคนแจ้งให้กลุ่มผู้เสียหายลงจากรถและทำการตรวจค้น ระหว่างนั้นผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิงได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายภาพ จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 จึงห้ามไม่ให้ถ่ายภาพและขอให้ลบข้อมูลออกจนเกิดการโต้เถียงกัน จนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้เดินเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มผู้เสียหายแทน จำเลยที่ 6 จึงแยกตัวออกมาทำการตรวจค้นรถอยู่บริเวณฝั่งเกาะกลางถนนห่างออกไปประมาณ 30 เมตร จนถึงเวลา 03.15 น.จึงเดินกลับมาที่เดิมซึ่งไม่เห็นกลุ่มผู้เสียหายแล้ว เห็นว่า จากพยานหลักฐานที่ปรากฎไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 6 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามฟ้องเช่นเดียวกัน
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 173ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
การกระทำของจำเลยที่ 1-4 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี ส่วนจำเลยที่5-6 ให้ยกฟ้องโจทก์ ริบเงิน 27,000 บาท ที่จำเลยที่ 1-4 ได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการคดีนี้ให้ตกเป็นของแผ่นดิน หากจำเลยที่ 1-4 ไม่สามารถส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวได้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชำระเงิน 27,000 บาทด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี