ผู้ว่าฯ กทม. เล็งใช้ AI วัดน้ำหนักรถบรรทุก ระบุ 2 สาเหตุถนนทรุด! มักกะสัน-สุขุมวิท จากรถบรรทุกสิบล้อน้ำหนักเกิน/มาตรฐานก่อสร้าง สั่งตรวจสอบ 317 ไซต์งานขนาดใหญ่ กทม.-กฟน.-รฟม. เรียกประชุมด่วนย้ำมาตรการปลอดภัย ฝากตร.คุมเข้ม
วันที่ 9 พ.ย. 2566 หน้าห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพลรองผู้ว่าฯกทม. ให้สัมภาษณ์กรณีถนนบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินทรุดตัวขณะรถบรรทุกวิ่งผ่านเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 ว่า เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากที่มักกะสัน แล้วก็ที่ถนนสุขุมวิท 64/1 ที่มีรถตกลงไปในบริเวณที่ก่อสร้างโดยเหตุวานนี้เป็นพื้นที่ก่อสร้างของการไฟฟ้านครหลวงนำสายสื่อสารสายไฟฟ้าลงดิน ซึ่งทั้ง 2 กรณีคล้ายกันคือมีรถบรรทุกวิ่งผ่าน สาเหตุน่าจะมาจาก 2 ส่วนคือ 1.รถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยรถสิบล้อ ตามกฎหมายท้องถิ่นทางหลวง คือ 25 ตัน
แต่ดูจากขนาดกระบะรถบรรทุกที่เราวัดคำนวณจากสายตาอาจจะถึง 30 หรือประมาณ 45 ตัน อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่บรรทุกน้ำหนักเกิน และ 2.เรื่องการก่อสร้างต้องดูคุณภาพของการก่อสร้างว่ามีปัญหาไหมเป็นหน้าที่ต้องพิสูจน์ต่อไป กรณีที่สุขุมวิท
เบื้องต้น มาตรการความปลอดภัยของ กทม. คือการควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก กับมาตรฐานการก่อสร้าง อาทิ การสร้างรถไฟฟ้าของ รฟม.โดยเฉพาะสายสีม่วงที่อยู่ระหว่างทำฐานราก การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีการทำท่อสายไฟลงดิน ในส่วนของกทม.เองมีบ่อบำบัดน้ำเสียและการทำไปป์แจ๊กกิ้ง ก็ได้กำชับไปแล้ว และช่วงบ่ายวันนี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาหารือเพื่อย้ำในเรื่องนี้ โดยเฉพาะตัวโครงสร้างชั่วคราวคือฝาบ่อซึ่งยังไม่ได้ปิดถาวร ต้องเพิ่มความเข้มข้นตรงนี้ ตลอดจนเรื่องความปลอดภัย ความเรียบของฝาบ่อ เช่นบริเวณถนนพระราม 3ที่มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเยอะ
สำหรับการบังคับใช้กฎหมายมีความซับซ้อนพอสมควรความรับผิดชอบ ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง มีถนน 5 แบบเช่นถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเป็นต้น ซึ่งการบังคับใช้ที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้ชั่งน้ำหนักเอง ร่วมกับตำรวจซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เป็นคดีอาญาจึงต้องให้ตำรวจจับกุม ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ ในอนาคตคงจะต้องจัดชุดร่วมกับตำรวจ ในการตรวจสอบเพราะการจับกุมเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวและตรวจยึดรถ อนาคตคาดว่า กทม.จะต้องมีเครื่องชั่งน้ำหนักเป็นของตนเองซึ่งขณะนี้ก็มีกระบวนการร่วมกับนักวิจัยนักวิชาการทำเรื่องระบบตรวจวัดน้ำหนักขณะรถวิ่งผ่านสะพานด้วยการติดตั้งใต้สะพาน Bridge Weight in Motion ซึ่งรถคันที่เกิดเหตุนั้นนักวิชาการสามารถบันทึกไว้ได้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่ามีน้ำหนักบรรทุกเกินขณะวิ่งผ่านบนสะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯโดยพบว่ามีน้ำหนักรวม 61 ตัน ซึ่งเกินมาตรฐานของรถสิบล้อขนาด 3 เพลาตามกฎหมายที่ต้องไม่เกิน 25 ตันมากถึง 36 ตัน
การนำข้อมูลนี้มาใช้นั้น อยู่ระหว่างศึกษาให้สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ เนื่องจากในต่างประเทศมีการนำระบบนี้มาใช้แล้ว แต่ในเมืองไทยยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานได้ อย่างไรก็ตามจะสรุปให้ได้ภายใน 2 เดือนนี้ แนวทางหลังจากนั้นก็จะใช้งบกลางในการจัดซื้ออุปกรณ์ติดตั้งโดยจะนำไปติดตั้งสะพานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ประมาณ 10 แห่งก่อน โดยจะไม่ระบุว่าเป็นจุดใด
นายชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ส่วนมาตรการในระยะสั้นได้ประสานกรมทางหลวงนำเครื่องชั่งน้ำหนักแบบเคลื่อนที่มาใช้โดยจะนำเข้าไปตรวจวัดในไซต์งานต่างๆ และได้สั่งการให้สำนักงานเขตสำรวจไซต์งานก่อสร้างขนาดใหญ่ 317 แห่ง ให้ได้มาตรฐานตามอำนาจที่กทม.มีทั้งนี้การตรวจสอบการก่อสร้างต่างๆ เจ้าของโครงการรวมถึงผู้รับเหมาที่ได้รับการว่าจ้างก็ต้องดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานด้วย
“เมื่อวานนี้ผมได้พบกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ได้มีการพูดคุยหารือถึงเรื่องการกำกับดูแล เน้นย้ำใน 2 เรื่อง คือรถบรรทุกไม่ให้บรรทุกเกินและต้องวิ่งตามกำหนดเวลา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องกังวลเพราะเป็นบ้านของเราเองต้องมีความปลอดภัย หลังจากนี้จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะเดินทางสัญจรได้อย่างปลอดภัย เรียกความมั่นใจของประชาชนกลับคืนมาให้ได้ และเย็นนี้หากได้เครื่องชั่งน้ำหนักแบบเคลื่อนที่จากกรมทางหลวงเพิ่มมาอีก 1 เครื่องก็จะไปสุ่มตรวจในไซต์งานอาจจะจับได้สัก 1-2 ราย” นายชัชชาติ ระบุ
ในส่วนการดำเนินการกับรถคันดังกล่าวในวันนี้จะมีการชั่งน้ำหนักดิน โดยทางเจ้าพนักงานทางหลวงท้องถิ่น จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเมื่อวานนี้ที่ไม่สามารถชั่งน้ำหนักได้เนื่องจากล้อรถแตก ผิดรูป เคลื่อนที่ไม่ได้ ตามระเบียบของกรมทางหลวงจะต้องให้รถสามารถเคลื่อนที่ได้
แล้ววิ่งขึ้นมาบนเครื่องชั่งน้ำหนักจึงต้องรอให้มีการเปลี่ยนล้อให้เรียบร้อยเมื่อชั่งน้ำหนักแล้วทางเจ้าพนักงานทางหลวงท้องถิ่น จะทำการบันทึกและส่งข้อมูลพร้อมนำตัวคนขับและรถส่งให้กับตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับเรื่องสติ๊กเกอร์ที่ติดอยู่บริเวณหน้ารถนั้นก็เป็นอำนาจการสอบสวนของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นเดียวกันเพราะ กทม.มีอำนาจตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ได้แค่ตรวจว่ามีผ้าคลุมหรือดินตกหล่นหรือไม่ ส่วนกรณีที่โซเชียลสงสัยว่าสำนักงานเขตต่างๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับส่วยหรือไม่นั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่น่าเกี่ยวเนื่องจาก กทม.ไม่ได้มีอำนาจในการชั่งน้ำหนักและจับกุม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี