นายกฯ มอบหมาย “คมนาคม-กทม.-กรมทางหลวง” ตรวจสอบปัญหารถบรรทุกสิบล้อน้ำหนักเกินและส่วยรถบรรทุก “ชัชชาติ”เตรียมเครื่องชั่งสุ่มตรวจหน้าไซต์งานก่อสร้าง พร้อมตรวจสอบ 317 ไซต์งานขนาดใหญ่ เผยรถบรรทุกเกิดเหตุ เคยบรรทุกน้ำหนักมากถึง 61 ตัน ลั่น จัดการคนเห็นแก่ตัวแบกน้ำหนักเกิน ประสาน กทม.-กฟน.-รฟม.เรียกประชุมด่วน ฝาก ตร.คุมเข้ม
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กรณี แผ่นซีเมนต์ฝาปิดบ่ออุโมงค์สายไฟฟ้าและสายสัญญาณ บริเวณปากซอยสุขุมวิท 64/1 เกิดการทรุดตัวว่า แผ่นซีเมนต์ฝาปิดท่อ รับน้ำหนักรถบรรทุกดินเหนียวไม่ไหว ทำให้ทรุดตัวลง โดยได้รับทราบปัญหาเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม(คค.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) และกรมทางหลวง(ทล.)ตรวจสอบและหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว ส่วนเรื่องส่วยทางหลวงนั้น เป็นปัญหามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ โดยยืนยันว่าได้ให้ความสำคัญกับทุกปัญหาและจะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ ไม่ต้องการให้ เวลามีปัญหาแล้วมาแก้และก็ลืม ซึ่งได้มีการกำชับอยู่ตลอดเวลา
เมื่อวันที่ 9พฤศจิกายน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวกรณีเหตุการณ์รถบรรทุกดินตกลงในบ่อพักท่อร้อยสายของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บริเวณถนนสุขุมวิท ซอย 64/1
นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากบริเวณแยกราชปรารภ และถนนสุขุมวิท ปากซอย 64/1 ที่มีรถตกลงไปในบริเวณที่ก่อสร้าง โดยเหตุวานนี้เป็นพื้นที่ก่อสร้างของ กฟน.ที่นำสายไฟฟ้าลงดิน ซึ่งทั้ง 2 กรณีคล้ายกันคือมีรถบรรทุกวิ่งผ่าน สาเหตุอาจจะเกิดได้ 2 เรื่อง 1.รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 25 ตัน จากการคำนวณด้วยสายตาคาดว่าบรรทุกน้ำหนักประมาณ 45 ตัน ซึ่งต้องมีการพิสูจน์กันต่อไป 2.การก่อสร้างฝาบ่อมีมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งมีการซ่อมแซมเสริมคานเหล็กให้มีความแข็งแรงมากขึ้น
นายชัชชาติกล่าวว่า เบื้องต้นมาตรการความปลอดภัยของ กทม. คือ การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก กับมาตรฐานการก่อสร้าง อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่อยู่ระหว่างการทำฐานราก, การก่อสร้างท่อสายไฟฟ้าใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การก่อสร้างท่อระบายน้ำ Pipe Jacking ของสำนักการระบายน้ำ โดยช่วงบ่ายของวันนี้จะมีการนัดแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยถึงมาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะตัวปิดฝาบ่อซึ่งเป็นโครงสร้างชั่วคราว และความเรียบของฝาบ่อ
ต่อมาเรื่องน้ำหนักบรรทุก มีความซับซ้อนพอสมควร กทม.ต้องร่วมกับตำรวจ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางหลวง พ.ศ.2535 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดูแลทางหลวงท้องถิ่น โดย กทม.ออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงท้องถิ่น ในเขตความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ประกาศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ซึ่งต้องกำหนดน้ำหนักเหมือนกับ อปท.อื่นๆ เพราะรถไม่ได้วิ่งภายในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพราะรถบรรรทุกมีการวิ่งไปในจังหวัดอื่นๆ ที่กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีด่านชั่งน้ำหนัก
“การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นคดีอาญา โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน เมื่อจับกุมแล้วต้องส่งให้ทางตำรวจเป็นผู้ดำเนินคดีการดำเนินการต่อไปต้องจัดชุดร่วมกับตำรวจ และ ทล.ไม่รอชั่งน้ำหนักบนถนน แต่จะชั่งที่ต้นทางที่ไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้ง 317 แห่ง ที่มีการขุดดินเหนียว ซึ่งได้ยืมเครื่องชั่งจาก ทล.มา 1 ตัวแล้ว โดยในวันนี้จะเข้าสุ่มตรวจ1ไซต์ก่อสร้าง” นายชัชชาติกล่าว
อย่างไรก็ตาม กทม.ได้จ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการวัดน้ำหนักบรรทุก ผ่านสะพานข้ามแยกต่างๆ โดยวิธี Bridge Weight in Motion ที่หลายประเทศมีการใช้งานจริง รวมถึงศึกษาข้อกฎหมายที่จะนำไปบังคับใช้ในการพิสูจน์หลักฐาน ใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ โดยผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จในอีก 2 เดือน แล้วจะนำงบกลางของ กทม.จัดซื้อเครื่องชั่งติดตั้งตามสะพานในจุดต่างๆทั้งนี้พบว่ารถคันที่เกิดเหตุบริเวณสุขุมวิท 64/1 มีภาพบันทึกไว้ได้เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 66 พบว่ามีน้ำหนักบรรทุกเกินขณะวิ่งผ่านบนสะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยพบว่ามีน้ำหนักรวม 61 ตันซึ่งเกินมาตรฐานของรถสิบล้อขนาด 3 เพลาตามกฎที่ต้องไม่เกิน 25 ตันมากถึง 36 ตัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รถคันเกิดเหตุเมื่อวาน กับ วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 มีลักษณะคล้ายกัน สีน้ำเงินเหมือนกัน และสติ๊กเกอร์ รูปดาว สีเขียว มีลักษณะคล้ายกัน และเป็นสัญลักษณ์ ตัว “B” เหมือนกัน
ส่วนที่คล้ายอีกจุดคือ ป้ายบนหัวรถบรรทุก แต่ข้อความต่างกัน โดยรถคันเกิดเหตุเมื่อวาน มีป้ายข้อความว่า “เสี่ยบิ๊ก” ส่วนวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 มีป้ายข้อความว่า “เสี่ยอั่งเปา”
นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนน้ำหนักที่รองรับฝาบ่อได้ต้องทำไว้เกินน้ำหนักที่กฎกำหนดไว้แล้ว รวมถึง กทม.จะเพิ่มเงื่อนไขออกใบอนุญาตการก่อสร้าง ถ้าไซต์ก่อสร้างใดมีการบรรทุกน้ำหนักเกินจะมีการให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว พร้อมกับเสนอรัฐบาลปรับกฎหมายให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยให้เจ้าของรถบรรทุกหรือผู้ว่าจ้างมีความผิดด้วย ซึ่งต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น
“ในช่วง 2 วันนี้ ต้องเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยให้ผู้รับเหมาต่างๆ ตรวจสอบความแข็งแรงของฝาบ่อ อย่าง กฟน.มี 879 บ่อ ถ้ามีปัญหาไม่ต้องให้รถผ่านก่อน รวมถึงสั่งการให้ทุกเขตตรวจสอบไซต์ก่อสร้างที่ดูแล้วว่าจะบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยนำเครื่องชั่งของ ทล.ไปชั่งที่ไซต์ก่อสร้างเลย” นายชัชชาติกล่าว
ในส่วนการดำเนินคดีกับรถคันดังกล่าว นายชัชชาติกล่าวว่า ในวันนี้จะมีการชั่งน้ำหนักดิน โดยทางเจ้าพนักงานทางหลวงท้องถิ่น จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเมื่อวานนี้ที่ไม่สามารถชั่งน้ำหนักได้เนื่องจากล้อรถแตก ผิดรูป เคลื่อนที่ไม่ได้ตามระเบียบของกรมทางหลวงจะต้องให้รถสามารถเคลื่อนที่ได้แล้ววิ่งขึ้นมาบนเครื่องชั่งน้ำหนักจึงต้องรอให้มีการเปลี่ยนล้อให้เรียบร้อยเมื่อชั่งน้ำหนักแล้วทางเจ้าพนักงานทางหลวงท้องถิ่น จะทำการบันทึกและส่งข้อมูลพร้อมนำตัวคนขับและรถส่งให้กับตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย
นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับเรื่องสติ๊กเกอร์ที่ติดอยู่บริเวณหน้ารถนั้นก็เป็นอำนาจการสอบสวนของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นเดียวกัน เนื่องจาก กทม.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ได้แค่ตรวจว่ามีผ้าคลุมหรือดินตกหล่นหรือไม่ ส่วนกรณีที่โซเซียลสงสัยว่าสำนักงานเขตต่างๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับส่วยหรือไม่นั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่น่าเกี่ยวข้อง เนื่องจาก กทม.ไม่ได้มีอำนาจในการชั่งน้ำหนักและจับกุม เจ้าของธุรกิจ ถ้าทำผิดกฎหมายเราจะจัดการทุกมาตรการอย่างเด็ดขาด ถือว่าเอาเปรียบประชาชน ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจทำตามกฎหมาย ปัญหาน่าจะบรรเทาลงไปเยอะ แต่ว่าเป็นเรื่องของคนเห็นแก่ตัว ที่แบกน้ำหนักเกิน เอาเปรียบใช้ทรัพยากรของคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี